วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม : จากเด็กดื้อสู่อริยสงฆ์


ชีวิตในวัยหนุ่มของนายจรัญ เป็นวัยที่คึกคะนอง แกล้งคนโน้นแกล้งคนนี้ อีกทั้งเถียงยายอยู่ตลอดเวลา แต่นายจรัญ มีดีทางการเล่นดนตรีไทย เพราะเคยเรียนมากับครูตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ โดยแอบยายไปเรียน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม ๓ นายจรัญได้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โดยไปอาศัยอยู่บ้านสามกระได แถวคลองบางแวก ฝั่งธนบุรี ของคุณหลวงธารา มีคุณนายชื่อ ห่วง คุณหลวงธารา เคยตีระนาดให้ รัชกาลที่ ๖ ทรงโขน นายจรัญไปอยู่เพื่อเรียนดนตรี ดีด สี ตี เป่า ต่อเพลงพิณพาทย์ เป็นเวลา ๒ ปี และได้ไปเรียนช่างกลกับอาจารย์เลื่อน พงษ์โสภณ ที่บางขุนพรหม เมื่อคุณหลวงธาราและคุณนายห่วงได้สิ้นชีวิตลง นายจรัญได้ย้ายไปอาศัยอยู่กับบ้านของครูศร ศิลปบรรเลง ซึ่งต่อมาได้เป็นคุณหลวงประดิษฐ์ไพเราะ อยู่แถวบ้านบาตร หลังวัดสระเกศ เพื่อเรียนดนตรีไทยต่ออีก ๑ ปีเศษ จึงได้มารู้จักกับ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ที่นี่ ต่อมา ครูศร ศิลปบรรเลง พานายจรัญไปฝากให้สอบเข้าเป็นนายร้อยตำรวจกับ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อเขาเข้าไปเรียนได้ ๓ เดือน ถูกรุ่นพี่ขู่เข็ญ และกลั่นแกล้ง เขาพยายามอดทน แต่เมื่อถูกรุกรานหนัก ความอดทนก็สิ้นสุด ประกอบกับเป็นคนที่ไม่ยอมคนอยู่แล้ว จึงชกรุ่นพี่เจ็บตัวไปหลายคน นายจรัญจึงไปขอโทษครู พร้อมกับขอลาออก และได้ชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ ให้แก่จอมพลแปลกทราบ และขอไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอน และนำวิชาที่เรียนมาคือ ดนตรี มาใช้ประกอบอาชีพ เมื่อมาอยู่ที่ อำเภอพรหมบุรี ก็มาเล่นดนตรีคณะจรรยารักษ์ ซึ่งมีอยู่เดิม พร้อมออกงานแสดง มีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงเจ็ดคุ้งน้ำ นายจรัญนอกจากมีฝีมือทางด้านดนตรีแล้ว ยังมีฝีมือทางด้านการประพันธ์หนังสือ สามารถประพันธ์เรื่องนางอรพิมกับท้าวปาจิตต์ และมีคณะลิเกมาขอลอกบท เพื่อไปแสดงเป็นลิเกหลายคณะ
ขอย้อน เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญ ก่อนที่นายจรัญจะย้ายไปอยู่กับครูศร ศิลปบรรเลง ดังนี้ นายจรัญได้ไปร่วมบรรเลงพิณพาทย์ที่วัดโตนด และหลวงธาราสั่งให้เลยไปเล่นต่อในงานศพอีกวัดหนึ่งใกล้ ๆ กัน คนอื่นในวงไปกันก่อน ส่วนนายจรัญเผลอนอนหลับอยู่บนศาลาวัดคนเดียว และแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อพระวัดโตนดได้พาศิษย์วัดประมาณ ๑๐ คน มารุมทำร้าย เนื่องจากนายจรัญเคยด่าว่า พระวัดโตนดอาศัยผ้าเหลืองหากิน ไม่ปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เป็นต้นว่า แอบกินยาฝิ่น ชอบต่อนกเขา กินข้าวค่ำ ซึ่งทำให้พระวัดโตนดโกรธแค้นมาก จึงสั่งให้ลูกสมุนทั้งสิบคนช่วยกันรุมทำร้ายนายจรัญ หนุ่มร่างเล็กล้มลุกคลุกคลานอย่างสะบักสะบอม โดยไม่ทันตั้งหลัก ลูกสมุนหนึ่งในสิบชักมีดวิ่งไล่แทงตามไปติด ๆ หวังจะฆ่าให้ตาย นายจรัญเห็นท่าไม่ดีแน่ จึงวิ่งหนีเอาตัวรอดไปที่ท่าน้ำ ตั้งใจว่าจะกระโดดน้ำหนี แต่โชคดีมีคนมาฉุดข้อมือลงไปในเรือช่วยไว้ได้ทันชื่อ นายหมั่น แซ่ตั้ง ทางฝ่ายพระวัดโตนดกลัวความผิด ที่มีคนมาเห็นเหตุการณ์ จึงสั่งให้ลูกศิษย์วัดถอยล่าทัพกลับไป นายหมั่นแจวเรือพานายจรัญซึ่งนอนสลบไสลอยู่ ไปรักษาตัวที่บ้าน และทำยาสมุนไพรจีนให้ทาน และให้นอนพักฟื้นจนหายดี แล้วจึงพาไปส่งที่บ้านหลวงธารา เป็นเพราะสาเหตุนี้ ทำให้เขาเกลียดพระมาตั้งแต่บัดนั้น

วันหนึ่งยายจะไปค้างที่วัดเพื่อฟังเทศน์ กลัวว่าจะถูกพวกโจรขโมยมาลักทรัพย์ไป จึงให้นายจรัญนำไหกระเทียมมาใส่เงินกลมไว้ด้านล่าง สายสะพาย ๒ เส้น ๆ ละ ๘ บาท สร้อยข้อมือ ๑ คู่ ข้างละ ๔ บาท ร่างแหทองคำ เงิน นาก ห่อผ้าโปะอยู่ด้านบน และขุดฝังไว้ใต้ถุนบ้านแล้วปรับหน้าดินให้เสมอกัน เอาขี้ควายยาทับเหมือนที่ยาลานข้าว จากนั้นเอากระพ้อมมาครอบไว้ หลังจากส่งยายไปวัดแล้ว นายจรัญก็เตรียมการที่จะขโมยสมบัติของยาย แต่พอขุดไป ปรากฏว่า ไหที่ใส่สมบัติของยายได้หายไป เมื่อยายกลับมาก็ลืมเรื่องการฝังสมบัติไปหมดสิ้น ต่อมายายล้มเจ็บไม่สบาย ไปเข้าฝันป้าเหลี่ยม ลูกสาวของยาย ซึ่งเป็นป้าของนายจรัญว่า “ถ้ากูตายแล้ว ให้ไปขุดเอาสมบัติในไห ที่ป่ากระชายหลังเรือน ๓ วานะ จรัญมันคิดไม่ซื่อ จะเอาทรัพย์สมบัติไปเล่นการพนัน”อีก ๒ ปีต่อมา ยายก็ตาย ป้าได้มาชวนนายจรัญไปขุดสมบัติ นายจรัญจึงออกอุบาย รู้ว่าป้าชอบกินน้ำตาลเมา จึงไปซื้อมาให้ป้ากินจนเมา และเมื่อขุดลงไปก็พบว่า ไหสมบัติได้ย้ายจากที่เดิมมา ๓ วา จริง นายจรัญได้ขอห่อผ้า ซึ่งห่อทองไว้ และได้ให้เงินกลมแก่ป้าไป เมื่อนายจรัญต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อไปเรียนหนังสือต่อ ได้นำห่อผ้าซึ่งห่อทองไว้ แขวนไว้บนขื่อ แล้วตั้งจิตอธิษฐาน ขอขมาลาโทษแก่ยาย เพราะว่าจะนำไปเล่นการพนัน และขอให้เทวดาช่วยรักษาไว้ให้ด้วย ๔ ปี เมื่อนายจรัญกลับมา ห่อผ้าซึ่งห่อทองไว้ยังอยู่ที่เดิม ต่อมาเมื่อนายจรัญได้มาบวชเป็นพระ จึงนำทองทั้งหมดไปขายเพื่อนำเงินมาสร้างโบสถ์วัดพรหมบุรีในภายหลัง

วันหนึ่งแม่ของนายจรัญเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ นายจรัญจึงถูกแม่ขอร้องให้บวช เพื่อจะได้เห็นชายผ้าเหลืองก่อนตาย นายจรัญก็บวชทดแทนพระคุณแม่ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ณ วัดพรหมบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. โดยมี พระครูพรหมจริยคุณ วัดแจ้งพรหมนคร เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดกิมเฮง วัดพุทธาราม เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอธิการช่อ วัดพรหมบุรี เป็นอนุสาวนาจารย์ แม้จะเกลียดพระมาก่อน แต่เมื่อต้องมาเป็นพระ ท่านก็พยายามปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ และปฏิบัติสมณกิจอย่างเคร่งครัด ทุกเช้าจะออกไปบิณฑบาตรในหมู่บ้าน เพื่อให้โยมยายและโยมแม่ได้ใส่บาตร เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระจรัญก็ทำความสะอาดกุฏิของท่าน เพราะท่านเป็นคนค่อนข้างมีระเบียบ เพราะโยมยายปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

ในช่วงเวลาที่บวช พระจรัญถูกอารมณ์ทางโลกเข้าครอบงำทำให้เกิดความเบื่อหน่าย มีจิตใจรุ่มร้อน ต้องการที่จะลาสึกอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องมีเหตุที่ทำให้ท่านลาสึกไม่ได้สักที เมื่อต้องการลาสึกทีไร ก็เกิดอาการง่วงเหงา เศร้า ซึม พร้อมได้ยินเสียงกังวานให้แก้วหู..... เข้ามาแทนที่กระทันหันว่า“นะโมยังไม่ได้ ก็ยังลาสึกไม่ได้”จนท่านสมภารพูดกับพระอันดับ ๔ รูปที่จะมาสึกให้ว่า “พระจรัญไม่ได้สึกหรอก รู้สึกว่าท่านต้องบวชไปตลอดชีวิต”แล้วพระจรัญก็ทราบสัจธรรมที่แท้จริงว่า “เกลียดสิ่งไหน ก็จะเจอสิ่งนั้น เกลียดพระ ก็จะต้องมาเป็นพระ”
หลวงพ่อจรัญได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา ลำเนาไพร และที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้ และประสบการณ์ทั้งทางสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชากับพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ ศึกษาคชศาสตร์กับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) อำเภอหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ กับหลวงพ่อลี และท่านเจ้าคุณอริยคุณาธร จังหวัดขอนแก่น และได้ศึกษาการทำเครื่องรางของขลัง น้ำมันมนต์ กับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่าง จังหวัดอยุธยา และหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จังหวัดอ่างทอง และหลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และได้ศึกษาสมถกรรมฐาน กับพระภาวนาโกศลเถร (สด จันทสโร) ที่วัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กับท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ จังหวัดกรุงเทพฯ และได้ศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) ที่วัดระฆัง จังหวัดธนบุรี และศึกษาการพยากรณ์จากสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศฯ จังหวัดกรุงเทพฯ และศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิต กับอาจารย์ พ.อ.ชม สุคันธรัต


ต่อมาเมื่อหลวงพ่อจรัญมาประจำอยู่ที่วัดอัมพวัน หลวงพ่อรู้ล่วงหน้า โดยสติบอกว่าต้องใช้หนี้เต่า ที่รับจ้างต้มเต่า ๗ ตัว เป็นเงิน ๑ บาท ให้พวกขี้เมา เมื่อตอนที่เป็นเด็ก สมัยอยู่มัธยม ๒ ซึ่งปรากฏว่า เต่ามันมีความสามัคคีกันดิ้นจนหม้อแตก แล้วหนีเข้ากอไผ่ไป จากกรรมที่หลวงพ่อสร้างเหล่านี้ ท่านลืมไปหมดแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อทราบว่าเจ้าของร้านเบ๊เต็กเส็ง ที่บางปะอิน ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกัน ไปผ่าท้องที่สุขศาลาอนามัย จึงตั้งใจไปเยี่ยม โดยมีญาติโยมจะขอร่วมเดินทางไปด้วย


เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ผลกรรมได้ตอบสนอง ขณะนั้นหลวงพ่อได้เป็นเจ้าอาวาสใหม่ ๆ ได้เป็นโรคลำไส้ ปวดกระเพาะมาก ไส้เริ่มเน่า ถ่ายออกมาเป็นเลือดและน้ำเหลืองนานอยู่ ๓ ปี ลูกศิษย์ได้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช หมอวินิจฉัยโรคพร้อมทั้งลงความเห็นให้ทำการผ่าตัดหลวงพ่อ ในวันรุ่งขึ้น พอตอนเช้าตีสี่ หลวงพ่อได้หลอกพยาบาลว่าต้องทำกิจวัตร คือ การเดินจงกรมทุกเช้า และได้หนีออกจากโรงพยาบาล แล้วเรียกสามล้อตุ๊กๆ เพื่อไปลงเรือกลับวัด ขณะอยู่ที่วัด ต้องฉันน้ำทีละหยด แสบท้องทรมานมาก ต่อมาลูกศิษย์คือ นายเทียบ นองบุญนาค แวะมาเยี่ยม บอกว่ามียาผีบอก ให้นำเกลือ ๓ กำ ไข่ไก่ ๑๕ ฟอง โดยใช้เฉพาะไข่ขาว นำมาใส่หม้อดิน ต้มจนเป็นเกลือสตุ แล้วให้เริ่มฉันทีละช้อน แล้วดื่มน้ำตาม เมื่อหลวงพ่อฉัน พอเกลือตกถึงท้องแล้ว รู้สึกปวดแสบปวดร้อนมากจนสลบ พอฟื้นขึ้นมาอีกที ปรากฏว่า อาการปวดท้องได้หายเป็นปลิดทิ้ง และฉันอาหารได้ตามปกติ

แต่ผลกรรมยังไม่สิ้นสุดแค่นี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงพ่อได้ไปส่ง พันตำรวจโท ชน อินทนา พร้อมคุณนายเฉลา ภรรยา ซึ่งได้ย้ายไปอยู่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเป็นห่วงว่าต้องเกิดเรื่องเดือดร้อนครั้งนี้แน่ ระหว่างที่เดินทางด้วยรถไฟ เมื่อถึงสถานีชุมพร ไส้ติ่งของหลวงพ่อได้เกิดแตกขึ้นมา หลวงพ่อสลบไป แต่ท่านได้กำหนดจิต หายใจทางสะดือ อยู่ในท่าสมาธิ ทุกคนคิดว่าหลวงพ่อมรณภาพแล้ว แต่หลวงพ่อได้ตั้งสติ แข็งใจจนถึงสถานีชะอวด เดินไปจนถึงบ้านพักตำรวจ มีแพทย์หญิงคนหนึ่งมาตรวจและจะพาหลวงพ่อไปโรงพยาบาล เพราะไม่มีเครื่องมือช่วย แต่หลวงพ่อไม่ยอม จึงตั้งจิตอธิษฐาน “พ่อไก่ แม่ไก่ทั้งหลายเอ๋ย เจ้าจงมารับเมตตาจากข้าพเจ้า ที่ตอนเจ้าไม่ได้เจตนาให้เจ้าตาย เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน ถ้าข้าพเจ้ารอดตายจะทำกรรมฐานไปให้ จงอย่าจองเวรจองกรรมกับเราเลย ให้อภัยเราเถิด”เมื่อสิ้นคำอธิษฐาน ก็อุจจาระ ปัสสาวะ ไหลออกมา ทั้งเลือด ทั้งหนอง เหม็นคลุ้งไปหมด หมอให้น้ำเกลือและฉีดยาให้ คืนนั้นหลวงพ่อได้ทำกรรมฐาน พวกไก่ได้มาเต็มไปหมดและบอกหลวงพ่อว่า “นี่เป็นท่านนะ ถ้าไม่ใช่ท่าน จะเอาให้ตาย” หลังจากนั้น หลวงพ่อก็หายวันหายคืนจนเป็นปกติ

อาตมามีประสบการณ์เกี่ยวกฎแห่งกรรมที่เราจะต้องรับใช้ เมื่อเรามีจิตมีปัญญาเกิด จะรู้กฎแห่งกรรมทันที จากการเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน เวรกรรมตามสนอง อาตมาจึงรู้บุญบาป เมื่อก่อนนี้อยู่กับยาย อาตมาไม่สนใจกับพระตลอดกาล เวลาไปวัดหาบของไปทำบุญที่วัด ยายก็ต้องให้เก็บเอาก้อนดินไปด้วยใส่กระบุงไปข้างละ ๓ ก้อน ไปถึงวัดแล้วให้ไปโยนไว้ที่มันเป็นบ่อเป็นหลุมอยู่ในวัด ยายบอกว่าได้บุญ อาตมาบอกว่าคนอื่นเขาไม่หาบดินไปวัดกันหรอก มีบ้านเราบ้านเดียว อายเขาตาย ยายบอกเราว่าไปวัดเหยียบดินติดเท้ามานี่เป็นกรรมนะ เป็นบาป ใช้หนี้สงฆ์ เป็นหนี้สงฆ์ มากเป็นบาปเป็นกรรม แต่แกก็ไม่ได้อธิบาย เขาเล่ากันมาอย่างนี้ แกก็จำมาอย่างนี้ ก็มาอธิบายอย่างนี้ ไม่เหมือนคนเดี๋ยวนี้ว่าไม่บาป บาปยังไง เหยียบแค่นิดเดียว พระก็ถมเอาเองสิ นี่คนรุ่นใหม่เข้าใจอย่างนี้ แต่คนรุ่นเก่าเขาถือนัก ถือเชื่อเข้าไว้ก่อนมันมีประโยชน์ มันได้กำไรชีวิต คือเชื่อกฎแห่งกรรม อาตมาเป็นเด็กเมื่อมาบวชใหม่ๆ ไปบ้านญาติ ที่เขาเป็นนักเลง เป็นโจร เป็นเสือ เขากินเหล้ากันพอเห็นพระมาเขาเก็บแก้วหมดเลย เอาเหล้าแอบเลย ยังกลัวบาปนะ เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง กินต่อหน้าพระเลยสบายมาก แถมงานศพยังเล่นไพ่หน้าศพอุทิศส่วนกุศลแล้วกพระก็สวดไป ไม่ได้เกรงกลัวต่อบาปกรรม แต่ประการใด เขาว่าบาปกรรมไม่มีแน่นอนเข้าใจอย่างนี้