วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องสั้น : เขียดขาคำ / สะท้อนชีวิตคนอีสาน : ความเชื่อ : ความคิดที่ควรเปลี่ยนแปลง

เรื่องสั้น : เขียดขาคำ
ลาวคำหอม
แดดกล้าเริงแรง เหมือนจงใจจะแผดเผาทุกชีวิตบนทุ่งหญ้ากว้างให้ไหม้มอดจนสิ้นซาก
สะแบงหลวงกับพะยอมยืนโดดเด่น ทิ้งใบแก่สีเหลืองคล้ำร่อนลงดินเป็นครั้งคราว เขาหย่อนกายลงตรงโคนไม้ด้วยท่าทางที่เหนื่อยอ่อน เสื้อสีครามคล้ำเปียกชื้นไปด้วยหยาดเหงื่อ รอบตัวมีแต่ความอ้างว้างแห้งแล้ง เขาเพ่งมองกลุ่มหญ้าหม่นและฟางฝอยที่ปลิวว่อนหมุนเป็นลำสูงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า นอกจากหญ้าและฟาง มันยังหอบเอาดินสีน้ำตาลลอยฟุ้งจนมืดมัวไปหมด มันเป็นลมหัวกุดหรือที่บางคนเรียกลมหัวด้วน เขารู้สึกหวาดขึ้นมาทันทีเมื่อคิดได้ว่า ลมที่พัดตึงๆอยู่นั้น ผู้ใหญ่เคยบอกว่ามันเป็นเครื่องหมายของความแห้งแล้ง ความอดอยาก ความวิบัติและความตาย เมื่อคิดถึงตรงนี้เขารู้สึกกระวนกระวายอยากจะไปให้ถึงบ้านที่มองเห็นยอดไผ่เรี่ยดินลิบๆอยู่เบื้องหน้า แต่ก็ลังเลที่จะเดินต่อ เพราะเมื่อครู่นี้เอง ก่อนจะถึงร่มไม้ เขารู้สึกหูอื้อ ตามัว ซึ่งเขารู้ว่ากำลังจะเมาแดดและเป็นลม เขามองดูฝ่าเท้าที่พองเพราะความร้อนไหม้ของพื้นทราย แล้วรู้สึกโกรธขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก โกรธดินฟ้าอากาศซึ่งช่างมีแต่ความทารุณไม่จบสิ้น เช้านี้มันยังหนาวเหน็บจนถึงกระดูกแต่ขณะนี้กลับร้อน จนรู้สึกว่าหัวจะแตกออกเป็นเสี่ยง เมื่อคิดถึงความเยือกเย็นยามเช้าตรู่ก็ยิ่งคิดถึงลูกน้อยมากขึ้น
เช้านี้เอง เขากับลูกเล็กสองคนพากันออกไปหาเขียด เพื่อหาอาหารมื้อเช้าที่ทุ่งนาข้างบ้าน อากาศแสนหนาว ลูกน้อยทั้งสองคนคางสั่นกักๆขณะที่ก้มมองหาตาเขียด ซึ่งซ่อนอยู่ตามรอยแตกระแหงของผืนนา ทุกครั้งที่มองเห็นตาใสในหลืบเล็ก ลูกน้อยจะเรียกเขาเสียงดัง
“ พ่อ นี้อีกตัว ”
“ พ่อ หลืบนี้มีสอง เขียดขาคำ๑เสียด้วย เร็วหน่อยสิพ่อ ”
เขาจะกะโผลกกะเผลกไปตามเสียงเรียก ใช้จอบงัดรอยระแหง บางตัวเขาจับมันได้
ทันที แต่มีบางตัวพอเริ่มงัดดินมันก็กระโดดแผล็วไป เป็นหน้าที่ของลูกที่จะไล่ตะครุบ บางตัวก็ทัน บางตัวก็กระโดดลงไปในหลืบดินใหม่ ทำให้เขาต้องตามไปงัดรอยระแหงนั้นอีก บางครั้งถ้าโชคดีนอกจากจะได้เขียด ยังพบหอยกาบ หอยจุ๊บแจงที่หมกตัวรอฝนซึ่งเขาก็เก็บมันไป แดดเริ่มอุ่นและได้เขียดมากพอสำหรับข้าวมื้อเช้าแล้ว เสียงผู้ใหญ่บ้านเคาะเกราะเรียกประชุมดังแว่วมาจากในบ้าน เมื่อคิดถึงตรงนี้เขารู้สึกโกรธตัวเองขึ้นมาอีกอย่างบอกไม่ถูก เพราะถ้าหากว่าเขากลับบ้านเสียแต่ตอนนั้น ลูกน้อยที่น่าสงสารก็คงไม่เจ็บ มันเป็นหลืบสุดท้ายแท้ๆ ในทันทีที่เขางัดดินแตกกระจาย เขียดขาคำโตเต็มที่ขนาดหัวแม่มือกระโดดแผล็วผ่านหน้าลูกชายคนกลางไป เด็กน้อยไล่ตามไปห้า-หกวา เขียดจึงกระโดดลงไปในรอยเท้าควาย ลูกน้อยของเขาล้วงมือตามหมายจะจับ เท่านั้นเองเขาก็ตะลึงแทบสิ้นสติ เมื่อได้ยินลูกน้อยร้องเสียงลั่น

( ๑ เขียดขาคำ หมายถึง เขียดชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายกบแต่ขนาดเล็กกว่า ส่วนท้องและขามีสีเหลือง )


“ พ่อ งู งูกัดมือ ! ” งูเห่าแผ่แม่เบี้ยขู่ฟ่อๆ ได้สติเขากระโจนใช้ด้ามจอบหวดเต็มแรงสามครั้ง งูร้ายก็หางสั่นดิกๆ เขาหอบลูกน้อยพร้อมครุ๑เขียดกลับเข้าบ้าน และไม่ลืมบอกลูกอีกคนลากงูไปด้วย ลูกของเขาร้องไห้และครางเบาๆตลอดทาง มือของเด็กตบที่หน้าอกบอกว่าหายใจไม่ออก เมื่อถึงบ้าน กสิ่งโกลาหลไปหมด วิ่งหาหมอน้ำมนต์ หมอยากลางบ้านเท่าที่คิดชื่อได้
“ เอาเขียดมาสับปิดที่แผล ” เพื่อนบ้านคนหนึ่งร้องบอก
“ ปิ้งตับงูให้มันกิน ” อีกคนตะโกนเสียงดัง เขาวิ่งไปที่ซากงูผ่าท้องหาตับ ในขณะ
ที่เมียของเขาเฝ้าแต่ร้องไห้ ยิ่งสายคนยิ่งมาก เพื่อนบ้านที่ประชุมอยู่บ้านผู้ใหญ่เมื่อทราบข่าวก็แตกฮือ
มาสมทบ และในขณะเดียวกัน เขาก็ตกใจแทบเป็นบ้า เมื่อเพื่อนบ้านบอกว่าเขาต้องไปอำเภอวันนี้
เพราะผู้ใหญ่บ้านชี้แจงว่า วันนี้เป็นวันที่ทางการจะจ่ายเงินให้กับคนมีลูกตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และเขา
ก็เป็นหนึ่งที่มีลูกครบห้าคนพอดี
“ จะไปได้ยังไง ลูกจะตายแหงบๆอยู่ไม่เห็นหรือ ? ” เขาพูดอย่างเจ็บแค้น
“ มันจะเป็นไรไปวะ มดหมอออกมากมายต่างก็เคยรักษากินบ้านกินเมืองมาแล้ว
ทั้งนั้น ”
“ ไปซีอ้ายบ้า ตั้งสองร้อยบาทเทียวนะ เกิดมามึงเคยมีรึ เงินสองร้อยน่ะ ”
“ พูดมันเสียเถอะ ” อีกคนพูด “ ถ้ามันเกิดมีอันเป็นถึงล้มถึงตาย ก็เลยจะชวดเท่านั้น ”
“ ไม่ไป๊ ไม่ไป ” เขาเอ็ดตะโร “ ลูกนอนหายใจหงับๆอยู่ ยังจะมาบอกให้ไป วันอื่น
มันทำไมไม่จ่าย จริง เงินสองร้อยบาทแต่เกิดมาก็ไม่เคยมี แต่กูไม่ไป ข้าไม่ไป ”
“ ตะราง ” อีกคนหนึ่งพูด “ ถ้าไม่ไปมันก็ตะรางเท่านั้นเอง มีหรือจะขัดเจ้าขัดนาย
เขาให้ต้องเอา ไม่เอาก็ตะราง ”
เขารู้สึกใจเสียเมื่อได้ยินคำว่าตะรางบ่อยๆ แต่ก็ยังแข็งใจพูด
“ ตะรางตะเริงที่ไหน ก็บอกไม่เอา ไม่เอา ลูกจะตายทั้งคนจะทิ้งไปได้ยังง้าย ! ”
เขาขึ้นเสียง “ ไม่ไป ไม่ไป ” เขาย้ำอีก
“ ไปเสีย อย่าขัดทางการเขา เราเป็นราษฎร ” หันไปก็พบผู้ใหญ่บ้านยืนหน้าขรึม
อยู่ข้างๆ เสียงเขาแหบแห้งลงทันที
“ ถ้าไม่ไปโทษถึงตะรางจริงหรือ ? ” เขาถาม
“ แน่นอน ” ผู้ใหญ่บ้านพูดขึงขัง “ บางทีถึงจำตลอดชีวิต ”


( ๑ ครุ หมายถึง ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วอุดรอยสานด้วยครั่ง รูปร่างคล้ายถังน้ำ )
เท่านั้นเอง เขาก็ต้องซมซานไปอำเภอเหมือนคนบ้า ฝากลูกน้อยกับหมอน้ำมนต์และ
เพื่อนบ้าน แล้วผลุงลงเรือนไป ถึงอำเภอเมื่อจวนจะเพล พบกับเพื่อนบ้านที่มาเอาเงินเช่นเดียวกับเขา
นั่งเป็นกลุ่ม เพื่อนบ้านชี้ให้เขาไปที่โต๊ะปลัดอำเภอแก่ๆคนหนึ่ง จึงผลุนผลันเข้าไป
“ ผมนายนาค นางาม ครับ มาขอเอาเงินค่ามีลูกมาก ”
ปลัดอำเภอเงยหน้าที่อวบอูมขึ้นมองเขาช้าๆ จ้องอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดเสียงหนัก
“ อ้ายบ้า คนกำลังทำงานไม่มีตารึ ไป๊ ! ไปรอข้างนอก ”
“ เออ นาย ลูกผมกำลังจะตาย ” แต่แล้วเขาก็ชะงักโดยเร็วเมื่อคิดว่าเขาไม่ควรพูดคำนี้เพราะบางทีเจ้านายเกิดสงสัยว่าลูกเขาตายจะลำบาก ปลัดอำเภอนั้นก้มหน้าเขียนอะไรขยุกขยิกต่อไปอีก นาคเดินออกมาสมทบเพื่อนข้างนอกอย่างเงื่องหงอย เกิดเป็นราษฎรชาวนานี่ช่างมีแต่กองทุกข์ เขาคิด อดอยากปากหมองก็สุดจะทุกข์อยู่แล้ว หันหน้าไปหาเจ้านายก็มีแต่คำขู่เข็ญเขารอต่อไปจนเที่ยง แต่เจ้านายคนนั้นยังเขียนหนังสือต่อไป เหมือนไม่มีพวกเขา ชาวนาทั้งหลายซึ่งนั่งรออยู่อย่างกระวนกระวาย สักครูปลัดจึงลุกขึ้นเดินอาดๆออกมาข้างนอก แต่ยังมีเมตตาหันมาบอกสองสามคำ




“ เที่ยงแล้ว หยุดพัก บ่ายโมงมาเอา ”



นาคกับเพื่อนนั่งรอจนบ่าย ปลัดหน้าตายคนนั้นจึงเข้ามาและเรียกพวกเขาให้เข้าไปหา ทุกคนนั่งราบลงที่พื้น เขาเริ่มซักถามต่างๆว่าทำยังไงจึงมีลูกมากนัก เพื่อนบ้านก็ตอบไปงกๆเงิ่นๆ เรียกเสียงหัวเราะอย่างชอบใจจากหมู่เจ้านายที่หันมาฟังคำตอบอันแสนจะน่าอดสูเหล่านั้น
และแล้วก็ถึงเขาจนได้
“ คนไหน นายนาค นางาม ”
“ ผมครับ ” เขาตอบอ้อมแอ้ม
“ เราล่ะ ทำยังไงจึงมีลูกมากมายนัก ” หลายคนหัวเราะคิกๆ
“ โอ๊ย ! มันยากมันจนเจ้านายเอ๊ย ” เขาโพล่งออกไปเพราะเหลืออด
“ ก็มันเกี่ยวอะไรกับยากๆจนๆเล่า ” ปลัดซักด้วยน้ำเสียงแสดงความผิดหวังในคำตอบ



“ มันจน มันจน ไม่มีเงินจะไปซื้อผ้าห่ม ถึงจะเหม็นสาบเหม็นคาวทั้งปีทั้งชาติ
ก็ได้ใช้เมียนั้นแล้วต่างผ้าห่ม ลูกมันก็หลั่งไหลมา ” แทนเสียงหัวเราะ ทุกคนเงียบงันไปครู่หนึ่ง
เสียงปลัดหน้าตายคนนั้นจึงปร่าๆขึ้น
“ บ๊ะ อ้ายหมอนี่เอาเมียทำผ้าห่ม ”

ลมพัดมาอีกอู้หนึ่ง สะแบงและพะยอมทิ้งใบแก่กราวใหญ่ ประกายแดดยังเต้น
ระยิบ ลมหัวกุดยังคงพัดอื้ออึงกลางทุ่งโล่งเบื้องหน้า นาคผละจากเงาไม้สูงฝ่าเปลวแดดร้อนยามบ่ายมุ่งตรงไปหมู่บ้าน ไม่นานเขาสวนทางกับเพื่อนบ้านหมู่หนึ่ง
“ เฮ้ยทิดนาค ” เสียงนั้นทักมาแต่ไกล ไม่ทันจะตอบอีกคนหนึ่งก็ชิงเล่า
“ เอ็งโชคดีเหลือเกิน ” คำเล่าทำให้เขาใจชื้นมากขึ้น ยิ้มเล็กน้อยก่อนถาม
“ โชคยังไง โชคยังไง ” เขาถามอย่างร้อนรน
“ ก็เงินสองร้อยเอ็งได้รึเปล่าเล่า ? ”
“ ได้ซี อยู่นี่ ” เขาตบกระเป๋า
“ โชคดีเหลือเกิน โชคเอ็งดีเหลือเกินนาคเอ๋ย ถ้าเอ็งช้าไปอีกวันเดียวก็ชวดเงิน
สองร้อยบาท ”
“ ? ”


ข้อสอบกลางภาค ท ๔๓๒๐๑ : การอ่านและพิจารณาวรรณกรรม

แบบทดสอบกลางภาคเรื่อง เรื่องสั้น ( Short Story )
วิชา ท ๔๓๒๐๑ การอ่านและพิจารณาวรรณกรรม คะแนน ๒๐ คะแนน เวลา ๕๐ นาที
ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๑


คำสั่ง : จงเลือกคำตอบข้อที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว
จงอ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ ๑-๔
“ ความตายของลูกชายเปลี่ยนนิสัยพ่อ จากที่ไม่เคยฟังใครกลายเป็นพ่อที่อบอุ่นสำหรับลูกสาวทั้งสอง พ่อมักพูดถึงความฝันของตัวเองให้ลูกฟังทุกวัน จนมันกลายเป็นภาระที่คนในครอบครัวจะต้องช่วยกันส่งเสริมสมาชิกคนเล็กสุดให้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยมีชื่อให้จงได้ ”
๑. ข้อความนี้มาจากเรื่องสั้นเรื่องใด
ก. เนื้อพะยูน ข. หนี้น้ำใจ
ค. ความหวังก่อนตาย ง. เมื่อเย็นย่ำ...ของวันอันร้าย
๒. ข้อความนี้มีตัวละครกี่ตัว
ก. ๑ ตัว ข. ๒ ตัว
ค. ๓ ตัว ง. ๔ ตัว
๓. ประเด็นสำคัญของข้อความนี้คืออะไร
ก. ลูกชายเสียชีวิต
ข. สาเหตุการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพ่อ
ค. ความรับผิดชอบของลูกสาวต่อความประสงค์ของพ่อ
ง. พ่อต้องการให้ลูกสาวคนเล็กเป็นความ
หวังของครอบครัวแทนลูกชายที่ตายไป
๔. โวหารของข้อความนี้เป็นประเภทใด
ก. อธิบายโวหาร ข. บรรยายโวหาร
ค. อุปมาโวหาร ง. พรรณนาโวหาร

จงอ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ ๕-๘
“ บ่อยครั้งที่ความชั่วช้า ต่ำทราม ได้เข้ามาทักทายเกี่ยวพันเขาและเขาได้พ่ายแพ้ หวิดจะทำให้ตระกูลอัปยศอดอายมาก็หลายหน การพนัน ผู้หญิง และเพื่อนชั้นต่ำ เขามักง่ายพ่ายแพ้มันเสมอ ”
๕. ข้อความนี้มาจากเรื่องสั้นเรื่องใด
ก. เนื้อพะยูน ข. หนี้น้ำใจ
ค. ความหวังก่อนตาย
ง. เมื่อเย็นย่ำ... ของวันอันร้าย
๖. คำใดบ่งบอกถึงฐานะของตัวละคร
ก. ตระกูล
ข. การพนัน
ค. ความชั่วช้า
ง. ผู้หญิงและเพื่อนชั้นต่ำ
๗. จากข้อ ๖. คำใดบ่งบอกถึงเพศและอายุของตัวละคร
๘. คำใดช่วยสรุปอุปนิสัยตัวละครผู้นี้ว่ามีจิตใจใฝ่ไปในทางต่ำมากกว่าคำอื่นๆ
ก. บ่อยครั้งที่ความชั่วช้า
ข. และเขาได้พ่ายแพ้
ค. ตระกูลอัปยศอดอาย
ง. การพนัน ผู้หญิงและเพื่อนชั้นต่ำ

จงอ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ ๙-๑๒
“ ไม่รู้ว่าพระอาทิตย์ไปอยู่เสียที่ไหน ตื่นขึ้นมาฟังเสียงไอ้โต้งมันโก่งคอขันอยู่เป็นนานแล้ว ฟ้าก็ยังไม่ใสสักที นึกอยากจะเปิดหน้าต่างดูตะวันให้ถนัดก็ไม่กล้าสารพัดล่ะมันน่ากลัว หน้าต่างข้างมุ้งนี่ก็อยู่กับทางเดียวกับไม้ใหญ่โอบไม่รอบต้นนี้เสียด้วย ที่จริงมันก็ต้นจันท์แท้ๆ แต่ไม่ว่า
ต้นอะไรลงว่าฟ้ามันยังไม่สางก็น่ากลัวทั้งนั้น ”
๙. ข้อความนี้มาจากเรื่องสั้นเรื่องใด
ก. เนื้อพะยูน
ข. หนี้น้ำใจ
ค. ความหวังก่อนตาย
ง. เมื่อเย็นย่ำ...ของวันอันร้าย
๑๐. ข้อความนี้เขียนโดยใช้โวหารชนิดใด
ก. อธิบายโวหาร ข. บรรยายโวหาร
ค. อุปมาโวหาร ง. พรรณนาโวหาร
๑๑. สาระสำคัญของข้อความที่ผู้เขียนต้องการ
สื่อสารมากที่สุดได้แก่สิ่งใด
ก. ฉากภายในวัด
ข. แสดงถึงเวลากลางคืน
ค. ความน่ากลัวของต้นจันท์
ง. ความรู้สึกกลัวของตัวละคร
๑๒. ข้อความนี้ขึ้นต้นด้วยประโยคชนิดใด
ก. ประโยคคำถาม ข. ประโยคคำสั่ง
ค. ประโยคบอกเล่า ง. ประโยคปฏิเสธ
จงอ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ ๑๓-๑๖
“ สะแบงหลวงกับพยอมยืนโดดเด่น ทิ้งใบแก่สี
เหลืองคล้ำร่อนลงดินเป็นครั้งคราว เขาหย่อนกายลงตรงโคนไม้ด้วยท่าทางที่เหนื่อยอ่อน เสื้อสีครามคล้ำเปียกชื้นไปด้วยหยาดเหงื่อ รอบตัวมีแต่ความอ้างว้างแห้งแล้ง ”
๑๓. ข้อความนี้มาจากเรื่องสั้นเรื่องใด
ก. เนื้อพะยูน ข. หนี้น้ำใจ
ค. เขียดขาคำ ง. ความหวังก่อนตาย
๑๔. ผู้เขียนข้อความนี้เน้นจุดประสงค์ใดเป็นสำคัญ
ก. ฉาก ข. ตัวละคร
ค. บทบรรยาย ง. บทพรรณนา
๑๕. จากข้อมูลบริบทต่างๆในข้อความนี้จะอนุมานตัวละครได้ว่าประกอบอาชีพใด
ก. ชาวนา ข. ชาวไร่
ค. กรรมกร ง. เกษตรกร
๑๖. คำใดสะท้อนว่าผู้เขียนใช้คำที่ให้เกียรติยกย่องตัวละคร
ก. เขาหย่อนกาย
ข. ท่าทางเหนื่อยอ่อน
ค. เสื้อสีครามคล้ำเปียกชื้น
ง. ไปด้วยหยาดเหงื่อ
จงอ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ ๑๗-๒๐
“ ผมเฝ้ารอมันด้วยความอดทน ปกติจะมีรถจากตัวเมืองตรังมาที่อำเภอกันตังวันละเที่ยวก็จริง แต่รถจากกันตังมาที่บ้านพระม่วง มีเพียงเที่ยวเดียว เนื่องจากพระม่วงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีความ
สำคัญอะไรนัก ”
๑๗. ข้อความนี้มาจากเรื่องสั้นเรื่องใด
ก. เนื้อพะยูน ข. หนี้น้ำใจ
ค. เขียดขาคำ ง. ความหวังก่อนตาย
๑๘. สาระสำคัญของข้อความนี้เน้นการบรรยายข้อมูลใด
ก. การเดินทางจาก จ.ตรัง - อ.กันตัง - หมู่บ้านพระม่วง
ข. เน้นสภาพหมู่บ้านพระม่วงที่อยู่ห่างไกลจาก จ.ตรัง
ค. ความรู้สึกของตัวละครด้านการรอคอยและน้อยใจที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง
ง. บรรยายตัวละคร ๒ ตัวเพื่อการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่องต่อไป
๑๙. ตัวละครในข้อความนี้มีถิ่นพำนักอยู่ที่ใด
ก. หมู่บ้านพระม่วง
ข. จังหวัดตรัง
ค. อำเภอกันตัง
ง. ไม่แน่นอน
๒๐. ข้อความใดบ่งถึงความน้อยใจของตัวละครมากที่สุด
ก. ผมเฝ้ารอมันด้วยความอดทน
ข. ปกติจะมีรถจากตัวเมืองตรังมาที่อำเภอกันตังวันละเที่ยว
ค. แต่รถจากกันตังมาที่บ้านพระม่วงมีเพียงเที่ยวเดียว
ง. เนื่องจากพระม่วงเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่ไม่มีความสำคัญอะไรนัก
จงใช้คำตอบต่อไปนี้ ตอบคำถามข้อ ๒๑-๒๔ ว่าข้อความหรือคำพูดที่ยกมาอ้างเป็นคำพูดหรือบุคลิกของตัวละครชื่ออะไร
ก. เก๋ ข. ตา
ค. คำหล้า ง. ครูใหญ่
๒๑. “ พ่อกับแม่ครับ ” มันชี้ให้ดู คำว่าพ่ออยู่ข้างซ้ายของสะดือแม่อยู่ที่ข้างขวา ตลกดีไอ้ลูกแหง่
๒๒. “ ถ้าหนูทำแบบทดสอบของสถาบันไม่ได้
หนูก็จะไม่สอบเอนทรานซ์ เพราะอาจารย์บอกว่าไม่เคยมีใครที่ตกการทดสอบที่นี่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ ”
๒๓. “ อ้าว ! นี่ทำไมมายืนแอบต้นไม้ยังงี้ล่ะ
ทำไมไม่เข้าห้องเรียนจ๊ะ ”

๒๔. “ วันสุดท้ายในชีวิตของหญิงผู้อาภัพมาถึง
ตรงกับวันประกาศผลเอนทรานซ์ เธอตื่นแต่เช้า กินอาหารได้มากเป็นพิเศษ ม่านตาขยายกว้างและแจ่มใส พูดคุยนานและไม่มีอาการหอบ ”
จงใช้คำตอบต่อไปนี้ ตอบคำถามข้อ ๒๕-๒๘ ว่าข้อความหรือคำพูดที่ยกมาอ้างเป็นคำพูดหรือบุคลิกของตัวละครในเรื่องสั้นเรื่องหนี้น้ำใจตัวใด
ก. ด.ช.ทน ข. ด.ช.เปีย
ค. ครูใหญ่ ง. หลวงตาฟื้น
๒๕. “ มองไม่ถนัดจึงยื่นหน้าออกไปอีก สายมุ้งที่เป็นปมเล็กขอดน้อยคร่าคร่ำ ประสาเชือกที่เก็บๆตามห่อของมาก็เลยขาดผึงลงมาคลุมหัว เจ้าของมุ้งนั่งตัวแข็งทื่อนึกว่าผีหลอก ”
๒๖. “ เพื่อนเข้าห้องหมดแล้ว ทำไมเพิ่งมานาย........ “ ผมไปช่วยแม่ถอนกล้าครับ ”
๒๗. “ กลางดึกนั้น ..........ยังไม่นอน ยังนั่งทำอะไรง่วนอยู่หน้าตะเกียงลาน จะลุกไปดูก็ง่วงเต็มที นอนต่อกระทั่งเช้าตื่นขึ้นมาจึงได้เห็นเสื้อเมื่อวานวางอยู่หน้าเตียง........ ไอ้ตัวที่ใส่ไปเรียนหนังสือนั่นแหละ ........ติดกระดุมไว้แล้ว ติด
ให้จนครบห้าเม็ดแต่ว่าสีไม่ซ้ำกันสักเม็ดเดียว ”
๒๘. “ ผู้ใหญ่นี่แปลกจริงๆ ไม่ต้องถูกตีก็ร้องไห้ได้ ชอบกลแท้ๆ ”
๒๙. “ เด็กอีสานคนเก่าที่ช่วยงานผมมาเกือบปี
ลากลับไป สงกรานต์ที่บ้านแล้วก็หายสาบสูญไปเลย มันทำให้ผมต้องสูญรายได้เดือนที่แล้วทั้งเดือน แลผมก็กำลังเข้าตาจนด้วยถ้าเดือนนี้ผมยังหาเงินไม่ได้ เรือหาปลาลำเดียวของผมต้องถูกยึดแน่ ” ข้อความนี้แสดงความรู้สึกของผู้พูดอย่างไร
ก. เสียใจ ข. น้อยใจ
ค. คับข้องใจ ง. เจ็บใจ
๓๐. “ ลมพัดอ่อนๆขณะที่ผมพาเรือแล่นไปช้าๆ
ตามแนวหาดเจ้าไหม น้ำใสมองเห็นทุ่งหญ้าชะเงาใบสั้นตะคุ่มอยู่ในน้ำลึก ๕ วา เป็นแนวยาวเหยียดตลอดชายฝั่ง ”
ข้อความนี้เป็นโวหารชนิดใด
ก. อุปมาโวหาร ข. อธิบายโวหาร
ค. บรรยายโวหาร ง. พรรณนาโวหาร
๓๑. “ จนทุกวันนี้เด็กสาวยังบวชเป็นชี เธอมักถามตัวเองว่าการที่พี่สาวผู้อาภัพผู้ซึ่งไม่เคยได้รับความสุขใดๆในชีวิตแม้ก่อนตายยังถูกน้องสาวโกหก เพียงเพื่อให้ได้รับความสุขลวงๆ ถูกหรือผิด ? ”
ข้อความนี้แสดงความรู้สึกของตัวละครอย่างไร
ก. เสียใจ ข. พอใจ
ค. กังวลใจ ง. ไม่แน่ใจ
๓๓. “ เอ็งมันลูกกำพร้า ข้าถึงเก็บเอ็งมาเลี้ยงไว้ พ่อแม่เอ็งข้าก็ไม่รู้ว่ามันไปอยู่เสียที่ไหน ? “
ข้อความนี้แสดงความรู้สึกของผู้พูดอย่างไร
ก. เอ็นดู ข. สงสาร
ค. สมเพช ง. เวทนา
๓๓. “ วันนี้เอ็งไหว้ครูก่อนเรียนหนังสือ
หรือเปล่า ? ” ข้อความนี้เป็นคำพูดชนิดใด
ก. คำถาม ข. คำสั่ง
ค. คำสอน ง. คำเตือน
๓๔. “ ก็เลยหยิบขึ้น เมล็ดข้าวสุกที่เขาใส่บาตรหลงตาพร้อมกับ..........ใบนี้ยังแข็งกรังติดอยู่กับผิว ไม่มีเวลาจะแกะออกเสียแล้ว ”
คำที่ละไว้ในช่องว่าง เป็นผลไม้ชนิดใดในเนื้อเรื่อง
ก. กล้วย ข. ส้ม
ค. พุทรา ง. มะม่วง

๓๕. “ เป็นสามีที่ซื่อสัตย์ของเธอ เป็นพ่อที่ดีของลูกและเป็นผู้นำที่ขันแข็งแห่งครอบครัว เขาเป็นผู้ที่อดทนต่อความเลวเป็นอย่างยิ่ง...”
ข้อความนี้มีน้ำเสียงแสดงความรู้สึกอย่างไร
ก. ชื่นชม - ยกย่อง
ข. ชื่นชม - เยาะเย้ย
ค. ชื่นชม - อาลัย
ง. ชื่นชม - ยินดี
๓๖. “ ฉันจะให้มันเรียนหนังสือให้เก่ง ให้มันเรียนสูงๆเป็นครูหรือเป็นหมอก็ได้ ”
ใครเป็นผู้กล่าวคำพูดนี้
ก. เขา - พนักงานกวาดขยะเทศบาล
ข. เธอ - ภรรยา
ค. เขา - เศรษฐี
ง. เธอ - ภรรยาเศรษฐี
๓๗. “ ใครกันนะ ที่ถูกรถราคาแพงของเขาชนล้มตายไปวันนี้ ....ราคาชีวิตของคนนั้นกับราคารถของลูกชายใครจะแพงกว่ากันแน่ ....เธอคิด ” ข้อความนี้แสดงความรู้สึกของผู้พูดอย่างไร
ก. อวดฉลาด ข. อวดดี
ค.อวดรวย ง. อวดเก่ง
๓๘. “ เขาหอบลูกน้อยพร้อม ครุเขียด กลับบ้าน
และไม่ลืมบอกให้ลูกอีกคนลากงูไปด้วย ”
คำที่ขีดเส้นใต้ หมายถึงภาชนะคล้ายข้อใด
ก. ขันน้ำ ข. ชะลอม
ค. ตะกร้า ง. ถังน้ำ
๓๙. “ เกิดเป็นราษฎรชาวนานี่ช่างมีแต่กองทุกข์
เขาคิดอดอยากปากหมองก็สุดจะทุกข์อยู่แล้ว หันหน้าไปหาเจ้านายก็มีแต่คำขู่เข็ญ ”
ข้อความนี้แสดงความรู้สึกอย่างไร
ก. เสียใจ ข. น้อยใจ
ค. ท้อใจ ง. แค้นใจ

๔๐. “ เอ็งโชคดีเหลือเกิน ” คำเล่าทำให้เขาใจชื้นมากขึ้นยิ้มเล็กน้อยก่อนถาม
“ โชคยังไง โชคยังไง ” เขาถามอย่างร้อนรน
“ ก็เงินสองร้อยเอ็งได้รึเปล่าเล่า ”
“ ได้ซี อยู่นี่ ” เขาตบกระเป๋า
“ โชคดีเหลือเกิน โชคเอ็งดีเหลือเกินนาคเอ๋ย
ถ้าเอ็งช้าไปอีกวันเดียวก็ชวดเงินสองร้อยบาท ” “ ? ”

ข้อความนี้เป็นการปิดเรื่องสั้นเรื่องเขียดขาคำแบบใด
ก. โศกนาฏกรรม ข. สุขนาฏกรรม
ค. เป็นจริงในชีวิต ง. พลิกความคาดหมาย

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

จากศิษย์ พ.บ.รุ่น 1 - ศิษย์ พ.บ. รุ่น 109

คำพูดหลวงพ่อขาว
พ่อดีใจหนักหนาเห็นหน้าเจ้า กลับบ้านเก่าวันนี้ปีละหน
ผู้ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเรือนตน
เขาเรียกคนอย่างนี้ว่าดีงาม
เจ้าอุตสาห์มากราบพ่อซาบซึ้ง
เราคือหนึ่งยิ่งใหญ่ในสยาม
“ พิบูลวิทยาลัย ” ใครก็ตาม
เพียงเอ่ยนามร้องอ๋อยี่ห้อเรา
ทุกที่หกเมษามาเถิดหนู
พ่อนั่งอยู่ตรงนี้ ณ ที่เก่า
เห็นหน้าลูกพ่อหายคลายซึมเซา
เพลงโพธิ์เหงากลับฟื้นเป็นรื่นรมย์
เจ้าอุตสาห์มากราบพ่อซาบซึ้ง
เพียงครั้งหนึ่งวันนี้ก็ดีถม
“ เขียว-แดง ” ยังหวานหอมชวนดอมดม
พ่อชื่นชมลูกพ่อและพอใจ.

ครูประยูร เกื้อกูล
ม.6 ปีการศึกษา 2492
กิจกรรมวันสถาปนา โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย 109 ปี
23 กรกฎาคม 2551
จากศิษย์ พ.บ.รุ่น 1 - ศิษย์ พ.บ.รุ่น 109
ศิษย์ “ พระนารายณ์ ” รุ่นที่ 1
ผมชื่อนายศรี อิ่มสุข เกิดที่ตลาดคลองมะขามเทศ หรือตลาดท่าวุ้งปัจจุบัน เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2464 เรียนโรงเรียนประชาบาลตำบลบางคู้ 1 ( วัดวิหารขาว ) เรียนจบประถม 4
พ.ศ.2475 และเป็นนักเรียนคนเดียวในโรงเรียนที่ได้เรียนต่อ เข้าเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี “ พระนารายณ์ ” ปีการศึกษา 2476 ในฐานะที่เรียนดีหน่อย จึงเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 เลย ผมภูมิใจและตื่นเต้นมากที่มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ยังจำได้ว่าผมกับพวกอีก 14 คนได้เลื่อนชั้นพร้อมๆกัน และจำได้ว่าเลขประจำตัวของผมคือ 517 จะเป็นเลขประจำตัวเฉพาะผู้ที่เข้าเรียนที่โรงเรียนพระนารายณ์ หรือว่าเป็นเลขประจำตัวต่อเนื่องกันมาแต่ครั้งโรงเรียนนี้เรียนกันอยู่ที่วัดเสาธงทอง แล้วย้ายมาเรียนที่ตึกวิชาเยนทร์ก็ไม่แน่ใจ ส่วนตัวเองเข้าใจว่าจะเป็นเลขประจำตัวที่ต่อเนื่องมาจากวัดเสาธงทอง
เครื่องแบบนักเรียน
ผมเข้าเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี “ พระนารายณ์ ” ต้นปีการศึกษา 2476 ระเบียบของทางโรงเรียนให้ใส่เสื้อนอกสีขาว บางคนเรียกว่า “ เสื้อห้าตะเข็บ ” คอตั้ง ราคาตัวละ 6 สลึง หรือ 1.50 บาท สวมหมวกฟางสีนวลออกขาวนัยว่าเป็นของญี่ปุ่น มีผ้าพันหมวกสีน้ำเงิน ถ้าชั้นมัธยม 1 - 3 จะมีสีเหลืองในเนื้อผ้าคาดเส้นเดียว ถ้ามัธยม 4 - 6 เพิ่มสีเหลืองคาดเป็นสองเส้น เจ้าหมวกฟางนี่แหละทำให้ถูกไม้เรียวหวดก้นกันบ่อยๆ เพราะเอามาเล่นเข่นกันกลางอากาศ คือคนหนึ่งจะร่อนขึ้นไปก่อน อีกคนจะร่อนสวนขึ้นไป ให้ปะทะกันกลางอากาศโดยผลัดกันร่อน ผลัดกันเข่น ถ้าปะทะกันบางทีถึงกับเสียหายได้พฤติการณ์ร่อนหมวกฟางอย่างสนุกนี้ ครูเห็นเข้าเป็นต้องเรียกไปเฆี่ยนคนละป้าบสองป้าบ แล้วสั่งสอนว่า “ หมวกฟางนี้ พ่อแม่หาเงินมาซื้อให้ใส่แล้วพวกเธอมาทำลายเสียอย่างนี้ เป็นเรื่องไม่สมควร ต่อไปถ้าเล่นอย่างนี้อีก จะโดนเฆี่ยนคนละ 3 ที ”
กางเกงใช้สีดำ สวมถุงน่อง สวมรองเท้า คนไหนแต่งครบอย่างนี้ต่างภูมิใจด้วยกันถ้วนหน้า แต่ต่อๆมาทางโรงเรียนอนุญาตให้ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว มีกระเป๋าสองข้าง มีฝาปิดเรียบร้อย ส่วนหมวกฟางก็เพลาๆความเคร่งครัดลง เสื้อนอกหรือเสื้อห้าตะเข็บ มีรังดุม 5 เม็ดเป็นโลหะสีทอง ต้องขัดกันแทบทุกวันเพื่อให้มันเหลืองอร่าม วามวาว การขัดง่ายๆไม่ต้องซื้อหาอะไรมาขัด ตำราท่านว่าต้องขัดกับ “ ส้นเท้า ” ก็วามวาวได้เหมือนกัน ถ้ามีสตางค์หน่อยจะใช้เม็ดดุมดีๆ ราคาแพงหน่อย เม็ดดุมชนิดนั้นเรียกกันว่า “ ครีเม้นท์ ” สีกระเดียดมาทางสีทองผสมนาคมากหน่อย
การแต่งตัวของครู ช่วงนั้นเราไม่เรียก “ อาจารย์ ” อย่างวันนี้ ท่านนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อนอก “ เสื้อห้าตะเข็บ ” เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ ราชปะแตนท์ ” บางท่านนุ่งผ้าม่วงสีตามวันทีเดียว แต่ต่อๆมาท่านเริ่มสวมกางเกงแล้ว เรียกว่า “ กางเกงรัสเซีย ” บ้างเรียกว่า “ กางเกงฝรั่ง ” เดี๋ยวนี้เรียกว่ากางเกงสากล แต่ปัจจุบันเรียกแค่กางเกง
เรื่องของรองเท้า ส่วนมากใช้รองเท้าผ้าใบยี่ห้อ “ ซากุระ ” กับ “ อาซาฮี ” เรื่องรองเท้าหนังน้อยคนใช้ เพราะใช้ทีไรเป็นกัดส้นปี้ป่นทุกคราวเจ้ารองเท้าสองยี่ห้อนั้น ใส่หลายๆวันเข้ากลิ่นไม่สะอาดจะโชยระบาดจากเท้า แทบจะโชยเข้าจมูกคนใส่ทีเดียว ทำไมถึงตะบี้ตะบันใส่กันจนออกกลิ่น ไม่เปลี่ยนคู่กันบ้าง โถ โถ เพราะมีกันเพียงคนละคู่แทบทั้งนั้น

เรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเทอม
โรงเรียนพระนารายณ์ ลพบุรี ของพวกเรามีแตรวง ปัจจุบันเรียกว่าวงดุริยางค์ หรือวงโยธวาทิต เรามีครูเก่งทางนี้ท่านชื่อ ครูแป๊ะนิ่มเทียน ต่อมาท่านเปลี่ยนชื่อตามหลักการวัฒนธรรมไทยว่า “ ครูวัลลพ ”
ใครเป็นนักเรียนเป่าแตรจะได้เรียนฟรีไม่ต้องจ่ายค่าเทอมในอัตราเทอมละ 10 บาท ระยะที่ผมเรียนไม่มีเพลงชาติร้องกัน ใช้แตรเดี่ยวเป่า 3 จบ เชิญธงขึ้นสูเสาธงจนสุดยอด ต่อมาจึงมีเพลงชาติร้องเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาต้องร้องกันถึง 4 ตอน ตอนหนึ่งดูจะมากกว่าเพลงชาติปัจจุบัน แล้วต้องร้องกันถึง 4 ตอนบางครั้งจริงๆที่จะตัดร้องกันแค่ 2 ตอน หรือ2 ท่อนจะเร็วกว่ากันครึ่งหนึ่ง แต่จะถึงยอดเสาธงเหมือนกัน เพราะจังหวะการเชิญธงสู่ยอดเสาต้องชลอไปพร้อมๆกับเพลง .
( ตัดทอนจากข้อเขียนเดิมในวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนครบรอบ 96 ปี ของ ลุงศรี อิ่มสุข )