วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ข้อสอบเก็บคะแนนกลางภาค : การอ่านเพื่อการวิเคราะห์

แบบทดสอบการอ่านเพื่อการวิเคราะห์
อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ 1 - 2
“ ดูข้าดูเมื่อใช้ งานหนัก
ดูมิตรพงศารัก เมื่อไร้
ดูเมียเมื่อไข้จัก จวนชีพ
อาจจักรู้จิตไว้ ว่าร้ายฤาดี ”
1. คำประพันธ์นี้เสนอแนวคิดด้วยโวหารใด
ก. พรรณนาโวหาร ข. เทศนาโหาร
ค. สาธกโวหาร ง. อธิบายโวหาร
2. แนวคิดสำคัญของคำประพันธ์คือข้อใด
ก. ดูจิตใจคนต้องดูที่การกระทำ
ข. การชนะใจคนต้องเอาความดีเข้าแลก
ค. การฉลาดในการคบคนทำให้จิตใจดีมีสุข
ง. คนเราเจริญหรือเสื่อมขึ้นอยู่กับจิตใจ
อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ 3 - 6
“ เมื่อมนุษย์เรียนรู้ภาษาและใช้ภาษาสำหรับแสดงออก
ซึ่งความคิดของตนแล้ว ก็ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการ
คิดอีกด้วย ภาษาใช้เป็นเครื่องมือในการคิดได้อย่างไร
บางคนอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนักเพื่อให้เข้าใจง่ายจะ
ต้องอาศัยตัวอย่างใกล้ตัว ลองนึกถึงเวลาคิดโจทย์อยู่
คนเดียว ถ้าคิดโดยพูดออกไปด้วยเป็นคำพูดและ
บางทีก็อาจเขียนเป็นตัวเลขและตัวอักษรให้เป็นขั้นตอน
ไปตามลำดับของกระบวนการคิดนั้นก็คงจะได้คำตอบออก
มาเป็นระยะๆไป จนในที่สุดก็ได้คำตอบขั้นสุดท้าย
โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้คงเคยสังเกตเห็นคนบางคน
ขณะคิดเลข ริมฝีปากจะเคลื่อนไหวไปด้วย แสดงว่า
คนนั้นกำลังคิดโดยอาศัยคำพูดเป็นเครื่องช่วยคิด หรือ
ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับคิด เมื่อคิดวาง
โครงการก็เช่นกัน บุคคลย่อมต้องคิดโดยอาศัยภาษา
ตลอดเวลา อาจเปล่งเสียงพูดออกมาก่อนแล้วจึงร่าง
เป็นตัวหนังสือ คิดทบทวนแก้ไขอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก่อน
จะสำเร็จเป็นโครงการ กระบวนการคิดในกลุ่มบุคคล
ก็ต้องคิดออกไปดังๆเป็นคำพูดให้ผู้ที่ร่วมคิดได้ยินและ
รับรู้ความคิดของตน ”
3. ผู้เขียนมีเจตนาในการเขียนเพื่ออะไร
ก. แจกแจงคุณค่าของภาษาไทย
ข. อธิบายความโดยยกตัวอย่างประกอบ
ค. ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาษา
ง. นำเสนอกระบวนการใช้ภาษาเพื่อการ
สร้างสรรค์
4. จากข้อความดังกล่าวไม่สามารถอนุมานความคิด
ได้ตามประเด็นใด
ก. ภาษาเป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้และการ
ทำงาน
ข. การสื่อสารให้เกิดผลย่อมสืบเนื่องมาจากการ
รับรู้ความคิดของผู้ส่งสาร
ค. ประสิทธิภาพของการใช้ภาษาสื่อสารระหว่าง
บุคคลย่อมดีกว่าสื่อสารเพียงลำพัง
ง. การใช้ภาษาของบุคคลย่อมอาศัยคำพูดเป็น
เครื่องช่วยคิดให้เกิดความเข้าใจ
5. ข้อใดเป็นลักษณะการเขียนข้อความดังกล่าว
ก. เปิดประเด็นด้วยคำถามและเสิมความด้วย
ตัวอย่าง
ข. เริ่มต้นให้ชวนคิด พินิจความ และตามด้วย
คำคม
ค. อ้างอิงความคิดอย่างแยบยล เริ่มต้นด้วย
ข้อตกลง
ง. เริ่มต้นและลงท้ายด้วยวาทนิพนธ์และ
ประสานความคิดอย่างมีหลักการ
6. วิธีการใดไม่ปรากฏในการเขียนจากข้อความที่อ่าน
ข้างต้น
ก. การบรรยายความ
ข. การอธิบายความ
ค. การสาธกเรื่องราว
ง. การพรรณนาความ
อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ 7 - 10
“ (1) ทะเลแสนงาม ในน้ำมีปลา
(2) พืชพรรณดื่นดาษตา ไร่นารวงทองไสว
(3) สินทรัพย์มีเกลื่อนกล่น บรรพชนให้ไว้
(4) เราลูกหลานไทย จงร่วมใจรักษาให้มั่น
(5) แหลมทองโสภา ด้วยบารมี
(6) ปกเกล้าเราไทยนี้ ร่มเย็นเป็นศรีผ่องใส
(7) ใครคิดบังอาจหมิ่น ถิ่นทององค์ไท้
(8) เราพร้อมพลีใจ ป้องถิ่นไทยและองค์ราชัน ”
( เพลงรักกันไว้เถิด )
7. เจตนาของผู้แต่งเพลงนี้คือข้อใด
ก. โน้มน้าวใจให้ผู้ฟังคล้อยตาม
ข. พรรณนาความให้เห็นความงาม
ค. จูงใจให้ผู้ฟังตระหนักในคุณค่าแห่งตน
ง. แจกแจงกระบวนวิธีการป้องกันประเทศ
8. ข้อใดสรุปความไม่ถูกต้อง
ก. ความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศเป็นผล
มาจากการสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ
ข. ความสามัคคีของชนในชาติเสริมสร้างให้เกิด
การปกครองแบบภารดรภาพ
ค. คนไทยมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
และไม่ยอมให้ใครมาทำลาย
ง. คนไทยทุกคนต้องร่วมใจกันรักษาทรัพยากร
ธรรมชาติของไทยให้คงอยู่
9. ข้อความใดมีลักษณะเหตุและผล
ก. ข้อความที่ 2 ข. ข้อความที่ 3
ค. ข้อความที่ 4 ง. ข้อความที่ 7
10. ความคิดที่ผู้แต่งต้องการสื่อสารตรงกับข้อความใด
ก. ข้อความที่ 7 , 8 ข. ข้อความที่ 3 , 4
ค. ข้อความที่ 5 , 6 ง. ข้อความที่ 4 , 8
อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ 11 - 13
“ วัตถุดิบคนหนุ่มสาวผู้เร่าร้อน
ถูกป้อนเข้าโรงงานอันยิ่งใหญ่
เพื่อผลิต “สินค้าคน” สู่กลไก
มีกระดาษหนึ่งใบบอกราคา ”
11. ผู้เขียนแสดงน้ำเสียงลักษณะใด
ก. ชื่นชมยินดี ข. ประหลาดใจ
ค. ไม่พอใจ ง. เศร้าเสียใจ
12. “ โรงงาน ” หมายถึงอะไร
ก. สถานศึกษา
ข. แหล่งผลิตสินค้า
ค. สังคมอุตสาหกรรม
ง. สังคมเมืองหลวง
13. ข้อใดไม่อาจอนุมานได้จากเรื่องที่อ่าน
ก. ค่าของคนกำหนดได้จากวุฒิการศึกษา
ข. วัยรุ่นใฝ่ฝันที่จะทำงานในหน่วยงานที่ยิ่งใหญ่
ค. เมื่อสำเร็จการศึกษาหนุ่มสาวก็มุ่งทำงาน
ง. สังคมมีสถาบันพัฒนาคุณภาพของหนุ่มสาว
อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ 14 - 17
“ แต่คนทั้งปวงบางที่อาจจะลืมเสียสนิทว่า ชนบท
นั้นเองเปรียบเสมือนเปลือกของต้นไม้ และคนโดยมาก
นั้นเมื่อพูดถึงต้นก็มักจะไปยกย่องเอาเสียที่แก่นไม้มาก
กว่าเปลือก ยามจะติฉินนินทาใครบางทีก็ยังมีอุปมาเอา
ว่าเป็นคนไม่มีแก่นมีแต่เปลือก คือหาสติปัญญาไม่ได้
ดูถูกเปลือกแต่ไปยกย่องแก่น ต้นกล้วยนั้นมีแก่นหรือไม่
แต่ก็เลี้ยงชีวิตคนมาเสียไม่น้อยด้วยผลของมัน
ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ชนบทนั้นเองหล่อเลี้ยงแก่น
คือชาวเมืองหรือชาวกรุงอยู่ทุกวันนี้ แต่คนก็มาเพ่งหนัก
เอาที่ในเมือง ทุ่มเทส่วนใหญ่ลง ณ ที่นี้ จนเมืองนั้นเอง
กลายเป็นแหล่งของมลภาวะทั้งปวงไป ”
14. สาระสำคัญของข้อความนี้คืออะไร
ก. เมืองเป็นแหล่งมลภาวะที่ควรแก้ไข
ข. รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เมืองมากกว่านบท
ค. ชนบททำประโยชน์แก่เมืองมาก แต่ได้รับ
ผลตอบแทนน้อย
ง. สังคมชนบทมีความสำคัญน้อยกว่าสังคมเมือง
15. ผู้เขียนมีจุดประสงค์ในการเขียนอย่างไร
ก. แนะนำ ข. ปรารภ
ค. เตือนสติ ง. เปลี่ยนทรรศนะ
16. ข้อเขียนนี้มีจุดเด่นในเรื่องกลวิธีการเขียนอย่างไร
ก. ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน
ข. ใช้แนวใหม่ในการเปรียบเทียบ
ค. ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด
ง. ให้เหตุผลสนับสนุนดี
17. จากข้อเขียนนี้ผู้เขียนมีความคิดอย่างไร
ก. รักความยุติธรรม
ข. ช่างเปรียบเทียบ
ค. ชอบสร้องสรรค์
ง. ชอบสังคมชนบท
อ่านข้อความต่อไปนี้แล้วตอบคำถามข้อ 18 - 25
“ ขุดร่องริมขอบนาโดยรอบกว้าง 2 เมตร ลึกลงใน
พื้นนา 1 เมตร นำดินขึ้นถมคันให้สูงขึ้นประมาณ 1
เมตร ใช้ป้องกันน้ำท่วมจากภายนอกและใช้เก็นน้ำภาย
ใน
กรมประมงแนะนำให้ชาวนาขุดบ่ออนุบาลขนาด
50 - 100 ตารางเมตร อยู่ในแปลงนาเพื่อนุบาลลูกปลา
ขนาด 2 - 3 ซม. บ่ออนุบาลและคูน้ำให้กักน้ำสูง 70 ซม.
ขณะที่ปล่อยพันธ์ปลา
ทำนาแบบปกติจนต้นข้าวอายุได้ 20 วันขึ้นไป
ก็เริ่มเพิ่มน้ำมากขึ้น ให้ปลาออกว่ายหากินในบริเวณนา
ทั้งแปลง และยกระดับน้ำสูงขึ้นอีกจนพอเหมาะกับ
ความสูงของต้นข้าว
ปลากินวัชพืช แมลงศัตรูข้าวหลายชนิด ช่วยพรวน
ดินโดยการว่ายและการหาอาหาร ปลา 1 ตัวพอดีกับ
พื้นที่ 1 ตารางเมตร พันธุ์ปลาที่อาจใช้ในระบบนี้มีหลาย
ชนิด เช่น ปลาไน ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ
ปลาจีน ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาเฉาหรือปลา
กินหญ้า
ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็สูบน้ำออกให้นาแห้ง ปลาจะมา
รวมอยู่ในคูน้ำโดยรอบ ข้าวได้เพิ่มขึ้น ปลาก็ได้กำไร ”
18. ข้อความนี้ควรตั้งชื่อเรื่องอย่างไร
ก. การเลี้ยงปลาในนา
ข. การเลี้ยงปลาในนาข้าว
ค. ในน้ำมีปลาในนามีข้าว
ง. ข้าวในนาปลาในน้ำ
19. ถ้าจะเลี้ยงปลาในนา เกษตรกรควรจะเริ่มเลี้ยง
เมื่อใด
ก. เริ่มเลี้ยงลูกปลาพร้อมๆกับการปลูกข้าว
ข. เมื่ออนุบาลข้าวแล้วราว 20 วัน
ค. เมื่อขุดบ่ออนุบาลเสร็จเรียบร้อย
ง. เมื่อขุดคูและบ่อทั้งภายนอกและภายในนาแล้ว
20. ข้อความ “ ได้ข้าวเพิ่มขึ้น ” อธิบายได้ตามเหตุผล
ข้อใด
ก. ได้ข้าวนอกนาจากร่องคูริมของนาด้วย
ข. ปลาในนาช่วยให้ต้นข้าวงามกว่าปกติ
ค. ต้นข้าวปลอดภัยจากศัตรู
ง. ระดับน้ำเหมาะแก่ความต้องการของต้นข้าว
21. ถ้าเกษตรกรจะเลี้ยงปลาแบบนี้ ข้อใดที่ไม่จำเป็น
ต้องทำ
ก. การคัดเลือกพันธุ์ปลาที่เหมาะสม
ข. การคำนวณอัตราส่วนพื้นที่ต่อปริมาณปลา
ค. การสำรวจปริมาณและแหล่งน้ำที่จะใช้
ง. การจัดหาวัชพืชให้เป็นอาหารปลา
22. เพราะเหตุใดข้อความนี้จึงกล่าวว่า “ ปลาก็ได้กำไร ”
ก. ทุ่นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารปลา
ข. ปฏิบัติเต่นนี้แล้วเกิดผลพลอยได้สำคัญคือปลา
ค. เลี้ยงปลาได้หลายชนิดล้วนเป็นปลาที่ได้ราคาดี
ง. ลงทุนน้อยเพราะซื้อปลามาเลี้ยง
23. ข้อใดไม่ใช่ประโยชน์ที่ได้จากการเลี้ยงปลาในนา
ก. ดินร่วนขึ้น
ข. แมลงศัตรูข้าวลดลง
ค. ข้าวได้น้ำมากขึ้น
ง. วัชพืชที่ไม่พึงประสงค์หมดไป
24. ถ้าเกษตรกรจะเลี้ยงปลาแบบนี้ท่านคิดว่าข้อใด
จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด
ก. ไม่มีพันธุ์ปลาที่เหมาะสมในห้องถิ่นนั้น
ข. พื้นที่นาเป็นดินแข็งเกินไปยากแก่การขุด
คูและบ่อ
ค. การชลประทานไม่ทั่วถึง
ง. เกษตรกรขาดความรู้และประสบการณ์
25. ข้อความนี้ใช้กลวิธีใดในการอธิบาย
ก. การใช้ตัวอย่าง
ข. การชี้แจงตามลำดับ
ค. การกล่าวซ้ำด้วยคำแปลกออกไป
ง. การชี้สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

( 1 ) ศิษย์เก่าพิบูลฯดีเด่น ปี '51

นายวีรวัฒน์ วรรลยางกูร
ม.ศ. 5/4 ปีการศึกษา 2516
O กวี เขียวแดงหนึ่งผู้ วีรวัฒน์ - วรรลยางกูรนอ
ศรี แจ่มวรรณจรัส เจิดจ้า
พิ ลาสดั่งพลอยคัด ค่าเด่น ครูแล
บูล วาดวรรลยางกล้า กูลเกื้อถิ่นสถาน
ศักดิ์สิทธิ์ นามสุวรรณ ประพันธ์



" .....รักเพื่อนลูกเขียวแดงทุกรุ่น ( ถ้าบังเอิญเจอช่วยแนะนำตัวด้วย ) ผมไม่ใช่ศิษย์ดีเด่นดีเด่ อะไรหรอก เพียงแต่ยังเหลือความทรงจำของลูกพิบูลฯ แม้ไม่ได้ใกล้ชิด เพื่อนคนไหนใกล้ชิด โปรดช่วยสนับสนุน "

วัฒน์ วรรลยางกูร
ไทรโยค กาญจนบุรี
28 สิงหาคม 2551



ประวัติโดยสังเขป
นายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 19 ประจำปี 2550
เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่ตำบลตะลุง อำเภอเมือง ลพบุรี เป็นบุตรคนเดียวของนายวิรัตน์ และนางบุญส่ง วรรลยางกูร แต่ยังไม่ทันโตจำความได้ บิดามารดาก็หย่าร้างกัน มารดาจึงพาไปอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดปทุมธานี

นักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19

พ.ศ.๒๕๐๕ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง ปทุมธานี เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ บิดาได้ติดต่อขออุปการะจึงพากลับไปอยู่ลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.๒๕๐๘ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๕ อยู่กับย่าที่บ้านสวน ริมแม่น้ำลพบุรี ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา
พ.ศ. ๒๕๑๔ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โดยไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองลพบุรี สอบตกชั้นม.ศ.๕ เพราะกำลังเริ่มสนใจการประพันธ์อย่างจริงจัง จนต้องเรียนซ้ำชั้น
พิบูล ’ 16 รำลึก
แม่จิ๋ม แม่แจ๋ว แม่จุ๋ม และชาว 5/4 พิบูลวิทยาลัย พ.ศ.2516
ถึงแม้ปกติฉันจะเขียนหนังสือเป็นงานอาชีพมา 20 – 30 ปี ( จากพ.ศ. 2524 ) แต่การที่เจอไฟท์บังคับให้เขียนถึงความทรงจำสมัยเรียนพิบูลวิทยาลัย ก็ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลาเข้าทรงระลึกชาติอยู่หลายเพลา จะเขียนเรื่องอะไร ช่วงเรียนมัธยมปลายที่พิบูลวิทยาลัย เป็นช่วงวัย 17-18-19 ปี มันจะมีอะไรสำหรับเด็กหนุ่ม นอกจากการจีบสาวไปตามสัญชาตญาณแห่งวัย เรื่องการจีบสาวของเด็กหนุ่มยุคโน้น หากเขียนเล่าไป เด็กรุ่นลูกหลานอ่านแล้วคงรำคาญว่า ไฉนมันชักช้า อืดอาด กว่าจะได้จับมือก็นิยายไปค่อนเรื่องไกล้
จบแล้ว......ไม่เล่าดีกว่า อันที่จริงเป็นจังหวะบังเอิญเหลือเกินว่า คนรุ่นเราเติบโตมาเจอยุคสมัยเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากยุคเผด็จการ มาสู่ยุค ( ที่อ้างว่าเป็น ) ประชาธิปไตย คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มันเป็นผลกระทบอันหนึ่งซึ่งทำให้คนรุ่นนั้น ยุคนั้นมีแนวทางชีวิต มีวิธีคิดแปลกออกไป.....แปลกไปแบบช่วยไม่ได้จริงๆ ( ถ้าเขียนคงยืดยาว )
อีกอันหนึ่งคือการได้มาเรียนแผนกศิลป์ของฉันที่พิบูลวิทยาลัย นับเป็นทางลิขิตชีวิตอันถูกต้องเหมาะเหม็ง
แม่จิ๋ม แม่แจ๋ว แม่จุ๋ม ปัจจุบันทั้งสามตะละแม่ก็มีวิถีชีวิตของตัวเอง ( มันจะของคนอื่นได้ไงล่ะ-ฮา )
ดูได้เลยว่าก็เป็นวิถีชีวิตที่ได้มาจากพื้นฐานการเรียนยุค 5/4 นั่นแหละ เช่น จิ๋มเก่งภาษาฝรั่งเศสและก็ถ่ายทอดวิชาให้ลูกสาวเข้าเรียนเตรียมอุดมฯได้อย่างดี ส่วนแจ๋วกับจุ๋มก็ไปเป็นครูอาจารย์ ที่ฉันเชื่อว่าเธอไปเป็นอาจารย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู อันเป็นสิ่งที่เราได้รับถ่ายทอดมาจากครูของเราหลายๆคน..............ครูที่ไม่เป็นแค่คนรับจ้างสอนหนังสือ ยังจำได้ไหม ม.ศ.5/4 ( เท่ากับ ม.6 สมัยนี้ ) จิ๋ม – แจ๋ว – จุ๋ม จัดรายการเพลงสากลเสียงตามสายที่โรงเรียน

ใช่.....ต้องเพลงสากล เพราะยุคนั้นอิทธิพลกระแสเพลงสากลบวกแคมป์จีไอมีมาอยู่ที่ลพบุรี ตาคลี อุดร ฯ ส่งผลกระทบให้เราฟังและหัดร้องเพลงสากล
เอลวิส , แพทบูน แก่เกินไป
รุ่นเราต้อง ซีซีอาร์ , บีจีส์ , โลโบ้ , ดอนนี่ ออสมอนด์ , จอห์น เลนนอน ( เดอะบีทเทิล )
คาเพนเตอร์ , ไซมอนด์ แอนด์กาฟังเกล ฯลฯ
แต่ถึงอย่างไรเมื่อเราจัดเพลงเสียงตามสายโดยดีเจ. ( สมัยโน้นยังไม่เรียกดีเจ. ) จิ๋ม+จุ๋ม+แจ๋วก็ยังต้องมีลำนำกลอนโดย “ กวีศรีพิบูลฯ ” คนนั้นแน่นอน ส่วนมันจะเข้ากับเนื้อเพลงหรือไม่ ก็มั่วได้
นั่นคือความทรงจำร่วมกัน ที่ฉันเชื่อว่าทุกคนในรุ่นนั้น ช่วงพ.ศ.2516 น่าจะเคยแว่วๆเสียงตามสาย
ส่วนการเรียนแผนกศิลปะที่พิบูลวิทยาลัย กลายเป็นการก้าวสู่ทางชีวิตนักประพันธ์ คือว่าฉันเองใฝ่ฝันทางการประพันธ์มาตั้งแต่เรียนม.ศ.2 โรงเรียนวินิตศึกษา บังเอิญว่าในวิชาคณิตศาสตร์ บังเอิญครูผู้สอนเป็นครูประสิทธิ์ รอดแย้ม ที่ “ ซี้ ” กันกับฉัน ขนาดว่ายอมปล่อยให้นายวีรวัฒน์เอาหนังสือนิยายกำลังภายในมาอ่านได้ในชั่วโมงเรียน หรือจะม่ส่งการบ้านอะไรก็ได้เพราะได้เขียนหนังสือไปลงนิตยสารฟ้าเมืองไทย เป็นที่ภาคภูมิใจของชาววินิตศึกษา ( ส่วนหนึ่ง ) แต่สำหรับตัวฉันเองแล้วนอกจากความภาคภูมิใจยังเป็นเรื่องของการได้กะตังค์ใช้นี่ก็สำคัญไม่น้อย ( สำคัญมาก ) เขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารชัยพฤกษ์ได้ 125 บาท เขียนกลอนได้ 25 บาท เขียนบทความได้ 30 บาท ( นายประสาท พาศิริ ก็เคยได้ 30 บาทเช่นกัน ในคอลัมน์เวทีเยาวชน ) จากนั้นเมื่อมาเรียนแผนกศิลป์ที่พิบูลวิทยาลัย ขอสารภาพว่าอะไรไม่รู้ทำให้ฉันไม่ตั้งใจเรียนเสียเลยนาควิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สอบผ่านม.ศ.4 มาด้วยคะแนน 53 % พอเรียนม.ศ.5/3 สอบตก 49.5% ( ถ้าจำไม่ผิด )
อะไรที่ไม่รู้นี้เป็นสวรรค์สั่ง หรือนรกสาป โปรดพิจารณา
ก็สมควรที่จะสอบตกเพราะคณิตศาสตร์ส่งกระดาษคำตอบเปล่าๆ ส่วนภาคภาษาก็มั่วๆไป
แต่ไม่อยากคุยว่าวิชาภาษาไทย ข. ที่มีวิชาการประพันธ์ด้วยมักจะ ‘ ท็อป ’ ประจำ เพราะได้ครูดีคืออาจารย์ฉวีวรรณ สิทธิปาน
ความรู้เรื่องวรรณคดี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ฉันได้จากอาจารย์ฉวีวรรณมากเกินกว่าการเรียนมัธยมปกติ กระทั่งสามารถไปประกอบวิชาอาชีพได้......คือปกติ นักประพันธ์เป็นอาชีพที่จะต้องไส้แห้ง จนต้องไปมีอาชีพอย่างอื่นเสริม เช่น เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นข้าราชการ แต่ฉันเป็นนักประพันธ์อย่างเดียวเดี่ยวโดดเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวมาได้ ไม่รวยไม่จน รอดพ้นวิกฤตต่างๆมาจนทุกวันนี้ ก็ได้พื้นฐานการเรียนวิชาการประพันธ์ ( ภาษาไทย ข. ) กับอาจารย์ฉวีวรรณ ทำให้เป็นนักเขียนที่เขียนงานได้รอบตัวทั้งร้อยแก้ว – ร้อยกรอง
ลูกพิบูลฯแผนกศิลป์อย่างเรา ( กู ) จะให้เขียนอะไรก็ทำได้ นิยาย เรื่องสั้น สารคดี กวี บทหนัง บทละคร คอลัมน์ ฯลฯ

ครูสมัยที่วีรวัฒน์เรียนหนังสือ

พูดแค่นี้ก็น่าหมั่นไส้มากแล้ว เอาเป็นว่าฉันพูดเพื่อยกย่องครูวิชาการประพันธ์ของฉันที่พิบูลวิทยาลัยก็แล้วกัน
แม่จิ๋ม แม่แจ๋ว แม่จุ๋ม แม่ๆพ่อๆแห่ง 5/4 และลูกเขียวแดงทั้งหลาย เรื่องราวความหลังครั้งอยู่พิบูลวิทยาลัยที่จริงยังมีอีกมากหลาย เช่น การหนีโรงเรียน – ฮา งานฤดูหนาว กีฬาต่างๆ กระเทยหน้าสถานีรถไฟ และ จุด-จุด-จุดหลังสถานีรถไฟ ฯลฯ วันนี้ยุติแค่นี้ก่อน สารภาพว่าช่วงนี้ ‘ งานเข้า ’ จริงๆ ทิ้งไม่ได้เพราะลูกกำลังเรียนมหาวิทยาลัยสามคน – เอวัง
ส่วนเรื่อง 14 ตุลาคม 2516 นั้น ยืดยาวเกินกว่าจะเขียนในที่นี้

ครูฉวีวรรณ สิทธิปาน คนแรกมุมล่างซ้ายมือ
หมายเหตุ ชื่อวีรวัฒน์ ต้องเปลี่ยนเป็น วัฒน์ เพราะจำเป็นบังคับ ราวปี 2525 – 2526 ได้รับธนาณัติค่าเรื่องจากนิตยสารเปรียว เขียนในธนาณัติว่า ‘ วัฒน์ ’ ตามชื่อในต้นฉบับ ไปที่ไปรษณีย์เขาไม่ยอมจ่ายเงินให้เพราะบัตรประชาชนเป็น ‘ วีรวัฒน์ ’ เลยตัดสินใจไปจัดการเรื่องชื่อที่อำเภอ จังหวะดีเหลือเกินต่อจากนั้นไปรับเช็คค่าเรื่องนิยายคือรักและหวัง เป็นเงิน 10,000 บาท ( พ.ศ.2525 ) เช็คขีดคร่อมจ่ายชื่อ ‘ วัฒน์ ’ ก็เลยถือเป็นฤกษ์ดี ‘ ปรับชื่อ ’ แล้วได้เงินหมื่น

ขอยุติไว้เท่านี้ก่อนตามเงื่อนไขของเวลาที่มี พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้ามืดเข้ากรุงเทพฯ
รักเพื่อนลูกเขียวแดงทุกรุ่น ( ถ้าบังเอิญเจอช่วยแนะนำตัวด้วย ) ผมไม่ใช่ศิษย์ดีเด่นดีเด่อะไรหรอก เพียงแต่ยังเหลือความทรงจำของลูกพิบูลฯ แม้ไม่ได้ใกล้ชิด เพื่อนคนไหนใกล้ชิด โปรดช่วยสนับสนุน

วัฒน์ วรรลยางกูร
ไทรโยค กาญจนบุรี
28 สิงหาคม 2551