วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แม่ฮ่องสอน - ปาย

แม่ฮ่องสอน
O แม่ เพียงแม่แผ่นพื้น ปฐพี ภูดอยโพ้นนา
ฮ่อง เรียกฮ้องบุตรี ห่วงหน้า
สอน ปวงประเพณี แดนถิ่น เถื่อนนอ
หวังบุตรโตเติบกล้า พ่องเพี้ยง "แม่ฮ่องสอน"


" หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง "

O ถึงจุดหมายลงยืนแลแม่ฮ่องสอน บุญปางก่อนคงหนุนให้ได้มาเห็น
ทางสัญจรเวียนวนจนลำเค็ญ ขับยากเย็นสองพันโค้งถึงโล่งใจ
O กลางขุนเขาป่าไม้และไอหมอก ลมเย็นบอกอยากใกล้ชิดเพื่อนมิตรใหม่
อิ่มอารมณ์เพลินตาฝ่าทางไกล หลอมอยู่ในมโนภาพอาบอุรา .









O ปายคือปลายขอบแคว้น เวียงภิงค์
ปายต่อแม่เวียงอิง แอบหล้า
ภูเกิดแม่เชี่ยวชิง กระแสสู่ เวียงนอ
เวียงเกิดเชียงใหม่ถ้า หล่อล้านนาเกษม

O คนปายปลาตลี้ คนปาย
คนเมืองเที่ยวเมืองปาย ป่นปี้
ไทยฝรั่งแหม่มมุ่งหมาย ปายกอปร สุขแฮ
ปายแต่ก่อนกลับลี้ หลบเร้นกามกระแส







O อยากเห็นปายคงความงามตามแต่ก่อน กลางดงดอนเคยอยู่กินถิ่นอาศัย
ประเพณีที่เป็นหลักฟูมฟักใจ สืบสานไว้บรรพชนคนปู่ตา
O วิถีปายควรคงปายสืบสายเลือด อย่ายอมเชือดศักดิ์ศรีมีสง่า
วิถีถิ่นวิถีฐานงานประชา ความเป็นมาของคนปายอย่าหายไป .









ปล. ความรักที่มีต่อปาย ควรเป็นรักบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ไม่ควรแต่งแต้มตามอำเภอใจ เพราะปายเป็นละอ่อนชาวเหนือไร้เดียงสา ใช่ไก่แก่แม่ปลาช่อน และเราต้องการมาพบปายในสภาพไร้เดียงสาตลอดไป.

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผึ้งหลวง

ผึ้ง
O แลผึ้งหลวงตรงหน้ารู้ว่าผึ้ง อีกใจหนึ่งกลับยลถึงคนฝัน
สตรีนามว่าพุ่ม พวงดวงจันทร์ ผึ้งตัวนั้นขับขานผลงานเพลง
O โลกของผึ้งตรึงใจในคุณค่า สานศรัทธาด้วยเสียงสำเนียงเปล่ง
อ้อนออเซาะสะอื้นหรือครื้นเครง ทุกบทเพลงตรึงใจไปนิรันดร์
O แม่พุ่มพวงผึ้งน้อยกลอยสวาท พรหมบังอาจลิขิตชีวิตสั้น
แสงความดีโชติช่วงดั่งดวงจันทร์ ทุกคืนวันคงสง่ากลางฟ้างาม .
ศักดิ์สิทธิ์ นามสุวรรณ
2 มีนาคม 2553
ผึ้งหลวง

O เมื่อปรากฏรังของผึ้งหลวงในพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรีซึ่งอยู่ติดกับถนนใหญ่ ลพบุรี - พระพุทธบาท มีการจราจรของยานพาหนะน้อยใหญ่เกือบทุกนาทีตลอดวัน

O โดยเฉพาะในช่วงเช้าเวลา 07.00 น. - 08.00 น. คือช่วงเวลาเร่งรีบของนักเรียน นักศึกษาและคนทำงานราชการ ความคับคั่งวุ่นวายบนท้องถนนจะลดระดับลงหลังเวลา 09.00 น. - 16.00 น. แล้วกลับมาสู่ช่วงเวลาเร่งรีบอีกครั้งระหว่าง 16.00 น. - 16.30 น. โดยเฉพาะบริเวณสถานศึกษา

เวลา 16.30 น. - 20.00 น. ความคับคั่งของยานพาหนะจะไปรวมกันที่หน้าห้างแมคโคร โลตัส บิ๊กซีและ

คาร์ฟู จึงจะกลับสู่สภาพการจราจรที่ปกติเป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกวัน

หากหักใจเดินเลี้ยวลงจากถนนสายนี้เพียงสอง-สามก้าวเดินผ่านประตูรั้วเหล็กสีฟ้าหม่นที่กั้นพื้นที่ส่วนน้อยๆแห่งนี้ไว้เพื่อแสดงขอบเขตบริเวณส่วนบุคคล แล้วเดินตามทางต่อไปอีกสัก 20 - 30 ก้าว

ก็จะพบภาพที่สวยงามปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งก็คือต้นประดู่แดงขนาดใหญ่ประมาณ 2 คนโอบ 2 ต้นยืนตระหง่านอยู่พร้อมด้วยดอกสีแดงเพลิงบานเต็มต้น พื้นดินบริเวณรอบโคนต้นก็เหมือนปูลาดด้วยพรมแดงของกลีบดอกแก่ที่ร่วงเกลื่อนเต็มพื้นดิน

ส่วนประกอบสำคัญของต้นประดู่แดงต้นแรกก็คือรังผึ้งหลวงขนาดใหญ่กว่าปกติกว่าที่เคยพบเห็นแขวนรั้งอยู่กับกิ่งแรกของลำต้น


ยิ่งเพ่งพินิจยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ ฉงนใจ ดีใจ เพราะนี่เป็นพื้นที่บ้านพักอาศัยของผมเอง


บ้านพักครูโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย อ.เมือง จ.ลพบุรี
ผึ้งรังนี้มาอาศัยอยู่ช่วงปีใหม่ มกราคม - กุมภาพันธ์ 2553 และหวังว่าผึ้งหลวงรังนี้คงจะอยู่กับครอบครัวเราอีกนาน










ผึ้งหลวง

ผึ้งหลวง ( Apis dorsata frabicius ) เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในผึ้ง 4 ชนิด มีลักษณะตัวใหญ่ ลำตัวยาวรี ขนาดลำตัวยาว 17 - 19 มิลลิเมตร ส่วนอกกว้าง 5 มิลลิเมตร ความยาวของปีก 6 - 7 มิลลิเมตร ประชากรส่วนใหญ่อยู่ปกคลุมรังเพื่อทำหน้าที่ป้องกันรังรวงผึ้งขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 10,000 - 80,000 ตัวต่อรัง เป็นรวงชั้นเดียวหรือรวงเดี่ยว บางครั้งอาจมีความกว้างถึง 2 เมตร ลักษณะรวงทั่วไปจะโค้งรีเป็นรูปครึ่งวงกลม จะติดอยู่ใต้กิ่งไม้ หน้าผา โขดหิน หรือมุมตึกที่อยู่สูงๆ เป็นที่โล่งแจ้ง ซึ่งจะมีร่มเงาที่ไม่ร้อนเกินไป บางครั้งในที่เดียวกันอาจมีผึ้งเกาะรวมกันมากกว่า 50 รัง ผึ้งหลวงจะดุร้ายเมื่อถูกรบกวนหรือทำลายและรุมต่อยศัตรูของมันนับเป็นสิบเป็นร้อยตัว เนื่องจากผึ้งหลวงเป็นผึ้งตัวใหญ่จึงมีพิษมากในเหล็กใน จึงทำให้ศัตรูของมันได้รับบาดเจ็บสาหัสได้

ผึ้งหลวง สามารถบินไปหาอาหารได้ไกลบางครั้งในรังหนึ่งอาจมีน้ำผึ้งถึง 15 กิโลกรัม ผึ้งหลวงไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้เพราะไม่ชอบให้ถูกรบกวน