วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

( 1 ) ศิษย์เก่าพิบูลฯดีเด่น ปี '51

นายวีรวัฒน์ วรรลยางกูร
ม.ศ. 5/4 ปีการศึกษา 2516
O กวี เขียวแดงหนึ่งผู้ วีรวัฒน์ - วรรลยางกูรนอ
ศรี แจ่มวรรณจรัส เจิดจ้า
พิ ลาสดั่งพลอยคัด ค่าเด่น ครูแล
บูล วาดวรรลยางกล้า กูลเกื้อถิ่นสถาน
ศักดิ์สิทธิ์ นามสุวรรณ ประพันธ์



" .....รักเพื่อนลูกเขียวแดงทุกรุ่น ( ถ้าบังเอิญเจอช่วยแนะนำตัวด้วย ) ผมไม่ใช่ศิษย์ดีเด่นดีเด่ อะไรหรอก เพียงแต่ยังเหลือความทรงจำของลูกพิบูลฯ แม้ไม่ได้ใกล้ชิด เพื่อนคนไหนใกล้ชิด โปรดช่วยสนับสนุน "

วัฒน์ วรรลยางกูร
ไทรโยค กาญจนบุรี
28 สิงหาคม 2551



ประวัติโดยสังเขป
นายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 19 ประจำปี 2550
เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่ตำบลตะลุง อำเภอเมือง ลพบุรี เป็นบุตรคนเดียวของนายวิรัตน์ และนางบุญส่ง วรรลยางกูร แต่ยังไม่ทันโตจำความได้ บิดามารดาก็หย่าร้างกัน มารดาจึงพาไปอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดปทุมธานี

นักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19

พ.ศ.๒๕๐๕ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง ปทุมธานี เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ บิดาได้ติดต่อขออุปการะจึงพากลับไปอยู่ลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.๒๕๐๘ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๕ อยู่กับย่าที่บ้านสวน ริมแม่น้ำลพบุรี ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา
พ.ศ. ๒๕๑๔ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โดยไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองลพบุรี สอบตกชั้นม.ศ.๕ เพราะกำลังเริ่มสนใจการประพันธ์อย่างจริงจัง จนต้องเรียนซ้ำชั้น
พิบูล ’ 16 รำลึก
แม่จิ๋ม แม่แจ๋ว แม่จุ๋ม และชาว 5/4 พิบูลวิทยาลัย พ.ศ.2516
ถึงแม้ปกติฉันจะเขียนหนังสือเป็นงานอาชีพมา 20 – 30 ปี ( จากพ.ศ. 2524 ) แต่การที่เจอไฟท์บังคับให้เขียนถึงความทรงจำสมัยเรียนพิบูลวิทยาลัย ก็ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลาเข้าทรงระลึกชาติอยู่หลายเพลา จะเขียนเรื่องอะไร ช่วงเรียนมัธยมปลายที่พิบูลวิทยาลัย เป็นช่วงวัย 17-18-19 ปี มันจะมีอะไรสำหรับเด็กหนุ่ม นอกจากการจีบสาวไปตามสัญชาตญาณแห่งวัย เรื่องการจีบสาวของเด็กหนุ่มยุคโน้น หากเขียนเล่าไป เด็กรุ่นลูกหลานอ่านแล้วคงรำคาญว่า ไฉนมันชักช้า อืดอาด กว่าจะได้จับมือก็นิยายไปค่อนเรื่องไกล้
จบแล้ว......ไม่เล่าดีกว่า อันที่จริงเป็นจังหวะบังเอิญเหลือเกินว่า คนรุ่นเราเติบโตมาเจอยุคสมัยเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากยุคเผด็จการ มาสู่ยุค ( ที่อ้างว่าเป็น ) ประชาธิปไตย คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มันเป็นผลกระทบอันหนึ่งซึ่งทำให้คนรุ่นนั้น ยุคนั้นมีแนวทางชีวิต มีวิธีคิดแปลกออกไป.....แปลกไปแบบช่วยไม่ได้จริงๆ ( ถ้าเขียนคงยืดยาว )
อีกอันหนึ่งคือการได้มาเรียนแผนกศิลป์ของฉันที่พิบูลวิทยาลัย นับเป็นทางลิขิตชีวิตอันถูกต้องเหมาะเหม็ง
แม่จิ๋ม แม่แจ๋ว แม่จุ๋ม ปัจจุบันทั้งสามตะละแม่ก็มีวิถีชีวิตของตัวเอง ( มันจะของคนอื่นได้ไงล่ะ-ฮา )
ดูได้เลยว่าก็เป็นวิถีชีวิตที่ได้มาจากพื้นฐานการเรียนยุค 5/4 นั่นแหละ เช่น จิ๋มเก่งภาษาฝรั่งเศสและก็ถ่ายทอดวิชาให้ลูกสาวเข้าเรียนเตรียมอุดมฯได้อย่างดี ส่วนแจ๋วกับจุ๋มก็ไปเป็นครูอาจารย์ ที่ฉันเชื่อว่าเธอไปเป็นอาจารย์ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู อันเป็นสิ่งที่เราได้รับถ่ายทอดมาจากครูของเราหลายๆคน..............ครูที่ไม่เป็นแค่คนรับจ้างสอนหนังสือ ยังจำได้ไหม ม.ศ.5/4 ( เท่ากับ ม.6 สมัยนี้ ) จิ๋ม – แจ๋ว – จุ๋ม จัดรายการเพลงสากลเสียงตามสายที่โรงเรียน

ใช่.....ต้องเพลงสากล เพราะยุคนั้นอิทธิพลกระแสเพลงสากลบวกแคมป์จีไอมีมาอยู่ที่ลพบุรี ตาคลี อุดร ฯ ส่งผลกระทบให้เราฟังและหัดร้องเพลงสากล
เอลวิส , แพทบูน แก่เกินไป
รุ่นเราต้อง ซีซีอาร์ , บีจีส์ , โลโบ้ , ดอนนี่ ออสมอนด์ , จอห์น เลนนอน ( เดอะบีทเทิล )
คาเพนเตอร์ , ไซมอนด์ แอนด์กาฟังเกล ฯลฯ
แต่ถึงอย่างไรเมื่อเราจัดเพลงเสียงตามสายโดยดีเจ. ( สมัยโน้นยังไม่เรียกดีเจ. ) จิ๋ม+จุ๋ม+แจ๋วก็ยังต้องมีลำนำกลอนโดย “ กวีศรีพิบูลฯ ” คนนั้นแน่นอน ส่วนมันจะเข้ากับเนื้อเพลงหรือไม่ ก็มั่วได้
นั่นคือความทรงจำร่วมกัน ที่ฉันเชื่อว่าทุกคนในรุ่นนั้น ช่วงพ.ศ.2516 น่าจะเคยแว่วๆเสียงตามสาย
ส่วนการเรียนแผนกศิลปะที่พิบูลวิทยาลัย กลายเป็นการก้าวสู่ทางชีวิตนักประพันธ์ คือว่าฉันเองใฝ่ฝันทางการประพันธ์มาตั้งแต่เรียนม.ศ.2 โรงเรียนวินิตศึกษา บังเอิญว่าในวิชาคณิตศาสตร์ บังเอิญครูผู้สอนเป็นครูประสิทธิ์ รอดแย้ม ที่ “ ซี้ ” กันกับฉัน ขนาดว่ายอมปล่อยให้นายวีรวัฒน์เอาหนังสือนิยายกำลังภายในมาอ่านได้ในชั่วโมงเรียน หรือจะม่ส่งการบ้านอะไรก็ได้เพราะได้เขียนหนังสือไปลงนิตยสารฟ้าเมืองไทย เป็นที่ภาคภูมิใจของชาววินิตศึกษา ( ส่วนหนึ่ง ) แต่สำหรับตัวฉันเองแล้วนอกจากความภาคภูมิใจยังเป็นเรื่องของการได้กะตังค์ใช้นี่ก็สำคัญไม่น้อย ( สำคัญมาก ) เขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารชัยพฤกษ์ได้ 125 บาท เขียนกลอนได้ 25 บาท เขียนบทความได้ 30 บาท ( นายประสาท พาศิริ ก็เคยได้ 30 บาทเช่นกัน ในคอลัมน์เวทีเยาวชน ) จากนั้นเมื่อมาเรียนแผนกศิลป์ที่พิบูลวิทยาลัย ขอสารภาพว่าอะไรไม่รู้ทำให้ฉันไม่ตั้งใจเรียนเสียเลยนาควิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สอบผ่านม.ศ.4 มาด้วยคะแนน 53 % พอเรียนม.ศ.5/3 สอบตก 49.5% ( ถ้าจำไม่ผิด )
อะไรที่ไม่รู้นี้เป็นสวรรค์สั่ง หรือนรกสาป โปรดพิจารณา
ก็สมควรที่จะสอบตกเพราะคณิตศาสตร์ส่งกระดาษคำตอบเปล่าๆ ส่วนภาคภาษาก็มั่วๆไป
แต่ไม่อยากคุยว่าวิชาภาษาไทย ข. ที่มีวิชาการประพันธ์ด้วยมักจะ ‘ ท็อป ’ ประจำ เพราะได้ครูดีคืออาจารย์ฉวีวรรณ สิทธิปาน
ความรู้เรื่องวรรณคดี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ฉันได้จากอาจารย์ฉวีวรรณมากเกินกว่าการเรียนมัธยมปกติ กระทั่งสามารถไปประกอบวิชาอาชีพได้......คือปกติ นักประพันธ์เป็นอาชีพที่จะต้องไส้แห้ง จนต้องไปมีอาชีพอย่างอื่นเสริม เช่น เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นข้าราชการ แต่ฉันเป็นนักประพันธ์อย่างเดียวเดี่ยวโดดเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวมาได้ ไม่รวยไม่จน รอดพ้นวิกฤตต่างๆมาจนทุกวันนี้ ก็ได้พื้นฐานการเรียนวิชาการประพันธ์ ( ภาษาไทย ข. ) กับอาจารย์ฉวีวรรณ ทำให้เป็นนักเขียนที่เขียนงานได้รอบตัวทั้งร้อยแก้ว – ร้อยกรอง
ลูกพิบูลฯแผนกศิลป์อย่างเรา ( กู ) จะให้เขียนอะไรก็ทำได้ นิยาย เรื่องสั้น สารคดี กวี บทหนัง บทละคร คอลัมน์ ฯลฯ

ครูสมัยที่วีรวัฒน์เรียนหนังสือ

พูดแค่นี้ก็น่าหมั่นไส้มากแล้ว เอาเป็นว่าฉันพูดเพื่อยกย่องครูวิชาการประพันธ์ของฉันที่พิบูลวิทยาลัยก็แล้วกัน
แม่จิ๋ม แม่แจ๋ว แม่จุ๋ม แม่ๆพ่อๆแห่ง 5/4 และลูกเขียวแดงทั้งหลาย เรื่องราวความหลังครั้งอยู่พิบูลวิทยาลัยที่จริงยังมีอีกมากหลาย เช่น การหนีโรงเรียน – ฮา งานฤดูหนาว กีฬาต่างๆ กระเทยหน้าสถานีรถไฟ และ จุด-จุด-จุดหลังสถานีรถไฟ ฯลฯ วันนี้ยุติแค่นี้ก่อน สารภาพว่าช่วงนี้ ‘ งานเข้า ’ จริงๆ ทิ้งไม่ได้เพราะลูกกำลังเรียนมหาวิทยาลัยสามคน – เอวัง
ส่วนเรื่อง 14 ตุลาคม 2516 นั้น ยืดยาวเกินกว่าจะเขียนในที่นี้

ครูฉวีวรรณ สิทธิปาน คนแรกมุมล่างซ้ายมือ
หมายเหตุ ชื่อวีรวัฒน์ ต้องเปลี่ยนเป็น วัฒน์ เพราะจำเป็นบังคับ ราวปี 2525 – 2526 ได้รับธนาณัติค่าเรื่องจากนิตยสารเปรียว เขียนในธนาณัติว่า ‘ วัฒน์ ’ ตามชื่อในต้นฉบับ ไปที่ไปรษณีย์เขาไม่ยอมจ่ายเงินให้เพราะบัตรประชาชนเป็น ‘ วีรวัฒน์ ’ เลยตัดสินใจไปจัดการเรื่องชื่อที่อำเภอ จังหวะดีเหลือเกินต่อจากนั้นไปรับเช็คค่าเรื่องนิยายคือรักและหวัง เป็นเงิน 10,000 บาท ( พ.ศ.2525 ) เช็คขีดคร่อมจ่ายชื่อ ‘ วัฒน์ ’ ก็เลยถือเป็นฤกษ์ดี ‘ ปรับชื่อ ’ แล้วได้เงินหมื่น

ขอยุติไว้เท่านี้ก่อนตามเงื่อนไขของเวลาที่มี พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้ามืดเข้ากรุงเทพฯ
รักเพื่อนลูกเขียวแดงทุกรุ่น ( ถ้าบังเอิญเจอช่วยแนะนำตัวด้วย ) ผมไม่ใช่ศิษย์ดีเด่นดีเด่อะไรหรอก เพียงแต่ยังเหลือความทรงจำของลูกพิบูลฯ แม้ไม่ได้ใกล้ชิด เพื่อนคนไหนใกล้ชิด โปรดช่วยสนับสนุน

วัฒน์ วรรลยางกูร
ไทรโยค กาญจนบุรี
28 สิงหาคม 2551

17 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ลูกเขียวแดง
จบออกไปแล้ว คิดดี ทำดี ได้ดีทุกคน

น.ส.ปนัดดา พวงพิกุล ม6/11 เลขที่ 14ก.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่าภูมิใจที่รุ่นพี่ของเราทำความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้แก่ ลูกเขียวแดง ของเรา และ รร. ของเราก็ได้สร้างกวีคนเก่งอีกด้วย



นางสาวสุจิวรรณ ท้วมวงษ์ ม.6/11 เลขที่ 23 ข.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ความสามารถของศิษย์เก่าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ว่ามีความสามารถมากเพียงใด และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน เป็นการสอนศิษย์รุ่นหลังๆไปอีกด้วย

นายเขษม พลเศษ 2ข ม.6/11

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่าภูมิใจกับความสารถของรุ่นพี่พิบูลที่จบไปและยังเป็นแบบอย่างกับน้องๆรุ่นต่อไปอีกด้วย


น.ส.ณภัสสร มีสัจจ์ ม.6/6 เลขที่10 ก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยได้ผลิตเด็กที่เก่งๆไว้ในสังคมอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่นศิษย์เก่าดีเด่นคนนี้ที่ชื่อว่า วัฒน์ วรรลยางกูร ถึงแม้ว่าในสมัยเรียนเขาอาจจะเรียนไม่เก่งและยังซ้ำชั้นแต่ว่าเขาก็ประสบความสำเร็จได้เพราะว่าเขาทำตามในสิ่งที่เขาชอบและเขาเลือกทางเดินชีวิตที่ถูกทางจนได้รับรางวัลนักเขียนศรีบูรพาคนที่ 9 อาจารย์ศักดิ์ได้นำเรื่องนี้มาลงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะว่าเสมือนเป็นแนวทางให้เด็กม.6เลือกทางเดินในการศึกษาต่อโดยให้เลือกทางที่เราชอบและถนัดเพื่อที่เราทำไปแล้วจะได้มีความสุขและประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ทำ

นางสาวอาทิตยา ศุภพงษ์ เลขที่ 22ก. ชั้น ม.6/8

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

...ต่อให้มีกระจกที่ใสราวพื้น้ำ
ที่สะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างได้เหมือนจริง
ก็ไม่สามารถสะท้อนภาพภายในจิตใจของเรา
ได้ชัดเจนดั่งกระจกแห่งความรอบรู้
ในดวงตาของเราเอง...


ทุกคนเองก็มีความรู้เก่งๆกันทั้งนั้นเลย ก็จบจากพิบูลนี่เนอะ 55555+

นางสาว เขมณัฏฐ์ ดิสสงค์ ม.6/5 เลขที่ 12(ข)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่า ปลื้มใจ จังค่ะ โรงเรียนของเราได้สร้างบุคคลากรที่มี คุณภาพ มาสู่สังคม ไทยของเรา


น.ส.ณิชารีย์ คำคุณ เลขที่ ๑๖ เลขที่ ๖/๕

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีครูดีช่วยชี้แนะ ดีนักแล อยากเกิดเปงเดะศิลป์เหมือนกันนะเนี่ย ดูอิสระดีจัง ร.ร.พิบูลของเราดีจิงๆมี น.ร.ที่สร้างชื่อเสียงให้เยอะแยะเรย หุหุ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รร.เรามีแต่คนเก่งๆ อยากเก่งอยากนี้บ้าง
ภูมิใจค่ะที่มีรุ่นพี่เก่งๆแบบนี้

น.ส.ณิชากร บุญชำนาญ ชั้นม.6/6 เลขที่ 11ก.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่ายินดีมากๆ ที่โรงเรียนของเราได้สร้างบุคคลที่มีคุณภาพ เก่ง และยังสร้างชื่อเสียงชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนของเรา (รูปสวยมากค่ะ)

น.ส. กฤตินี รอดเสถียร ชั้น ม.6/10 เลขที่ 4ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีใจที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยมีรุ่นพี่ที่ทำชื่อเสียงให้กับ
โรงเรียน และดิฉันก็อยากให้น้องรุ่นต่อไปสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเหมือนรุ่นพี่ด้วยค่ะ


นวพร สุนทโร เลขที่ 9ข ชั้นม.6/6

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น่าชื่นชมจริงๆ ถึงจะจบไปแล้ว(แถมได้ดีซะด้วย)แต่ความเป็นลูกพิบูลก็ยังอยู่ในใจเสมอ

น.ส.มุกรินทร์ เพ็งสุวรรณ ม.6/6 เลขที่ 15ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์คะ รูปครูสมัยที่วีรวัฒน์เรียนหนังสือ มีแต่สาวๆแล้วก้อสวยๆทั้งนั้นเลยนะคะ ดูภาพแล้วนึกถึงสมัยก่อนจังค่ะ น.ส.ภัทรสุดา สุขโฉม ม.6/8 เลขที่ 17 ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ศิษย์เก่ามีแต่เก่งๆ นับถือๆ
ภูมิใจมากๆ มีรุ่นพี่เก่งๆ

นางสาธันยพร บำรุง 6/4 10ข.

น.ส.ปัฐมพร สมสกุล ชั้นม.6/4 เลขที่ 16ก กล่าวว่า...

พิบูลวิทยาลัย ผลิตคนคุณภาพไว้มากมายเลยนะคะ
น่ายินดี และภูมิใจมากๆเลยค่ะที่มีรุ่นพี่เก่งๆ^^


น.ส.ปัฐมพร สมสกุล ชั้นม.6/4 เลขที่ 16ก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คิดดี ทำดี ได้ดีทุกคน เมื่อเราจบไปเราต้องเป็นคนดีให้เหมือนรุ่นพี่ๆ ให้ได้

น.ส.ปรีณาภา ปล้อไงม้ ชั้นม.6/8 เลขที่ 15 ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ลูกเขียวแดงทุกคนอยากย้อนเวลากลับไปหาอดีตที่มีแต่ความสนุกซักครั้ง