วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องสั้น : เขียดขาคำ / สะท้อนชีวิตคนอีสาน : ความเชื่อ : ความคิดที่ควรเปลี่ยนแปลง

เรื่องสั้น : เขียดขาคำ
ลาวคำหอม
แดดกล้าเริงแรง เหมือนจงใจจะแผดเผาทุกชีวิตบนทุ่งหญ้ากว้างให้ไหม้มอดจนสิ้นซาก
สะแบงหลวงกับพะยอมยืนโดดเด่น ทิ้งใบแก่สีเหลืองคล้ำร่อนลงดินเป็นครั้งคราว เขาหย่อนกายลงตรงโคนไม้ด้วยท่าทางที่เหนื่อยอ่อน เสื้อสีครามคล้ำเปียกชื้นไปด้วยหยาดเหงื่อ รอบตัวมีแต่ความอ้างว้างแห้งแล้ง เขาเพ่งมองกลุ่มหญ้าหม่นและฟางฝอยที่ปลิวว่อนหมุนเป็นลำสูงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า นอกจากหญ้าและฟาง มันยังหอบเอาดินสีน้ำตาลลอยฟุ้งจนมืดมัวไปหมด มันเป็นลมหัวกุดหรือที่บางคนเรียกลมหัวด้วน เขารู้สึกหวาดขึ้นมาทันทีเมื่อคิดได้ว่า ลมที่พัดตึงๆอยู่นั้น ผู้ใหญ่เคยบอกว่ามันเป็นเครื่องหมายของความแห้งแล้ง ความอดอยาก ความวิบัติและความตาย เมื่อคิดถึงตรงนี้เขารู้สึกกระวนกระวายอยากจะไปให้ถึงบ้านที่มองเห็นยอดไผ่เรี่ยดินลิบๆอยู่เบื้องหน้า แต่ก็ลังเลที่จะเดินต่อ เพราะเมื่อครู่นี้เอง ก่อนจะถึงร่มไม้ เขารู้สึกหูอื้อ ตามัว ซึ่งเขารู้ว่ากำลังจะเมาแดดและเป็นลม เขามองดูฝ่าเท้าที่พองเพราะความร้อนไหม้ของพื้นทราย แล้วรู้สึกโกรธขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก โกรธดินฟ้าอากาศซึ่งช่างมีแต่ความทารุณไม่จบสิ้น เช้านี้มันยังหนาวเหน็บจนถึงกระดูกแต่ขณะนี้กลับร้อน จนรู้สึกว่าหัวจะแตกออกเป็นเสี่ยง เมื่อคิดถึงความเยือกเย็นยามเช้าตรู่ก็ยิ่งคิดถึงลูกน้อยมากขึ้น
เช้านี้เอง เขากับลูกเล็กสองคนพากันออกไปหาเขียด เพื่อหาอาหารมื้อเช้าที่ทุ่งนาข้างบ้าน อากาศแสนหนาว ลูกน้อยทั้งสองคนคางสั่นกักๆขณะที่ก้มมองหาตาเขียด ซึ่งซ่อนอยู่ตามรอยแตกระแหงของผืนนา ทุกครั้งที่มองเห็นตาใสในหลืบเล็ก ลูกน้อยจะเรียกเขาเสียงดัง
“ พ่อ นี้อีกตัว ”
“ พ่อ หลืบนี้มีสอง เขียดขาคำ๑เสียด้วย เร็วหน่อยสิพ่อ ”
เขาจะกะโผลกกะเผลกไปตามเสียงเรียก ใช้จอบงัดรอยระแหง บางตัวเขาจับมันได้
ทันที แต่มีบางตัวพอเริ่มงัดดินมันก็กระโดดแผล็วไป เป็นหน้าที่ของลูกที่จะไล่ตะครุบ บางตัวก็ทัน บางตัวก็กระโดดลงไปในหลืบดินใหม่ ทำให้เขาต้องตามไปงัดรอยระแหงนั้นอีก บางครั้งถ้าโชคดีนอกจากจะได้เขียด ยังพบหอยกาบ หอยจุ๊บแจงที่หมกตัวรอฝนซึ่งเขาก็เก็บมันไป แดดเริ่มอุ่นและได้เขียดมากพอสำหรับข้าวมื้อเช้าแล้ว เสียงผู้ใหญ่บ้านเคาะเกราะเรียกประชุมดังแว่วมาจากในบ้าน เมื่อคิดถึงตรงนี้เขารู้สึกโกรธตัวเองขึ้นมาอีกอย่างบอกไม่ถูก เพราะถ้าหากว่าเขากลับบ้านเสียแต่ตอนนั้น ลูกน้อยที่น่าสงสารก็คงไม่เจ็บ มันเป็นหลืบสุดท้ายแท้ๆ ในทันทีที่เขางัดดินแตกกระจาย เขียดขาคำโตเต็มที่ขนาดหัวแม่มือกระโดดแผล็วผ่านหน้าลูกชายคนกลางไป เด็กน้อยไล่ตามไปห้า-หกวา เขียดจึงกระโดดลงไปในรอยเท้าควาย ลูกน้อยของเขาล้วงมือตามหมายจะจับ เท่านั้นเองเขาก็ตะลึงแทบสิ้นสติ เมื่อได้ยินลูกน้อยร้องเสียงลั่น

( ๑ เขียดขาคำ หมายถึง เขียดชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายกบแต่ขนาดเล็กกว่า ส่วนท้องและขามีสีเหลือง )


“ พ่อ งู งูกัดมือ ! ” งูเห่าแผ่แม่เบี้ยขู่ฟ่อๆ ได้สติเขากระโจนใช้ด้ามจอบหวดเต็มแรงสามครั้ง งูร้ายก็หางสั่นดิกๆ เขาหอบลูกน้อยพร้อมครุ๑เขียดกลับเข้าบ้าน และไม่ลืมบอกลูกอีกคนลากงูไปด้วย ลูกของเขาร้องไห้และครางเบาๆตลอดทาง มือของเด็กตบที่หน้าอกบอกว่าหายใจไม่ออก เมื่อถึงบ้าน กสิ่งโกลาหลไปหมด วิ่งหาหมอน้ำมนต์ หมอยากลางบ้านเท่าที่คิดชื่อได้
“ เอาเขียดมาสับปิดที่แผล ” เพื่อนบ้านคนหนึ่งร้องบอก
“ ปิ้งตับงูให้มันกิน ” อีกคนตะโกนเสียงดัง เขาวิ่งไปที่ซากงูผ่าท้องหาตับ ในขณะ
ที่เมียของเขาเฝ้าแต่ร้องไห้ ยิ่งสายคนยิ่งมาก เพื่อนบ้านที่ประชุมอยู่บ้านผู้ใหญ่เมื่อทราบข่าวก็แตกฮือ
มาสมทบ และในขณะเดียวกัน เขาก็ตกใจแทบเป็นบ้า เมื่อเพื่อนบ้านบอกว่าเขาต้องไปอำเภอวันนี้
เพราะผู้ใหญ่บ้านชี้แจงว่า วันนี้เป็นวันที่ทางการจะจ่ายเงินให้กับคนมีลูกตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และเขา
ก็เป็นหนึ่งที่มีลูกครบห้าคนพอดี
“ จะไปได้ยังไง ลูกจะตายแหงบๆอยู่ไม่เห็นหรือ ? ” เขาพูดอย่างเจ็บแค้น
“ มันจะเป็นไรไปวะ มดหมอออกมากมายต่างก็เคยรักษากินบ้านกินเมืองมาแล้ว
ทั้งนั้น ”
“ ไปซีอ้ายบ้า ตั้งสองร้อยบาทเทียวนะ เกิดมามึงเคยมีรึ เงินสองร้อยน่ะ ”
“ พูดมันเสียเถอะ ” อีกคนพูด “ ถ้ามันเกิดมีอันเป็นถึงล้มถึงตาย ก็เลยจะชวดเท่านั้น ”
“ ไม่ไป๊ ไม่ไป ” เขาเอ็ดตะโร “ ลูกนอนหายใจหงับๆอยู่ ยังจะมาบอกให้ไป วันอื่น
มันทำไมไม่จ่าย จริง เงินสองร้อยบาทแต่เกิดมาก็ไม่เคยมี แต่กูไม่ไป ข้าไม่ไป ”
“ ตะราง ” อีกคนหนึ่งพูด “ ถ้าไม่ไปมันก็ตะรางเท่านั้นเอง มีหรือจะขัดเจ้าขัดนาย
เขาให้ต้องเอา ไม่เอาก็ตะราง ”
เขารู้สึกใจเสียเมื่อได้ยินคำว่าตะรางบ่อยๆ แต่ก็ยังแข็งใจพูด
“ ตะรางตะเริงที่ไหน ก็บอกไม่เอา ไม่เอา ลูกจะตายทั้งคนจะทิ้งไปได้ยังง้าย ! ”
เขาขึ้นเสียง “ ไม่ไป ไม่ไป ” เขาย้ำอีก
“ ไปเสีย อย่าขัดทางการเขา เราเป็นราษฎร ” หันไปก็พบผู้ใหญ่บ้านยืนหน้าขรึม
อยู่ข้างๆ เสียงเขาแหบแห้งลงทันที
“ ถ้าไม่ไปโทษถึงตะรางจริงหรือ ? ” เขาถาม
“ แน่นอน ” ผู้ใหญ่บ้านพูดขึงขัง “ บางทีถึงจำตลอดชีวิต ”


( ๑ ครุ หมายถึง ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วอุดรอยสานด้วยครั่ง รูปร่างคล้ายถังน้ำ )
เท่านั้นเอง เขาก็ต้องซมซานไปอำเภอเหมือนคนบ้า ฝากลูกน้อยกับหมอน้ำมนต์และ
เพื่อนบ้าน แล้วผลุงลงเรือนไป ถึงอำเภอเมื่อจวนจะเพล พบกับเพื่อนบ้านที่มาเอาเงินเช่นเดียวกับเขา
นั่งเป็นกลุ่ม เพื่อนบ้านชี้ให้เขาไปที่โต๊ะปลัดอำเภอแก่ๆคนหนึ่ง จึงผลุนผลันเข้าไป
“ ผมนายนาค นางาม ครับ มาขอเอาเงินค่ามีลูกมาก ”
ปลัดอำเภอเงยหน้าที่อวบอูมขึ้นมองเขาช้าๆ จ้องอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดเสียงหนัก
“ อ้ายบ้า คนกำลังทำงานไม่มีตารึ ไป๊ ! ไปรอข้างนอก ”
“ เออ นาย ลูกผมกำลังจะตาย ” แต่แล้วเขาก็ชะงักโดยเร็วเมื่อคิดว่าเขาไม่ควรพูดคำนี้เพราะบางทีเจ้านายเกิดสงสัยว่าลูกเขาตายจะลำบาก ปลัดอำเภอนั้นก้มหน้าเขียนอะไรขยุกขยิกต่อไปอีก นาคเดินออกมาสมทบเพื่อนข้างนอกอย่างเงื่องหงอย เกิดเป็นราษฎรชาวนานี่ช่างมีแต่กองทุกข์ เขาคิด อดอยากปากหมองก็สุดจะทุกข์อยู่แล้ว หันหน้าไปหาเจ้านายก็มีแต่คำขู่เข็ญเขารอต่อไปจนเที่ยง แต่เจ้านายคนนั้นยังเขียนหนังสือต่อไป เหมือนไม่มีพวกเขา ชาวนาทั้งหลายซึ่งนั่งรออยู่อย่างกระวนกระวาย สักครูปลัดจึงลุกขึ้นเดินอาดๆออกมาข้างนอก แต่ยังมีเมตตาหันมาบอกสองสามคำ




“ เที่ยงแล้ว หยุดพัก บ่ายโมงมาเอา ”



นาคกับเพื่อนนั่งรอจนบ่าย ปลัดหน้าตายคนนั้นจึงเข้ามาและเรียกพวกเขาให้เข้าไปหา ทุกคนนั่งราบลงที่พื้น เขาเริ่มซักถามต่างๆว่าทำยังไงจึงมีลูกมากนัก เพื่อนบ้านก็ตอบไปงกๆเงิ่นๆ เรียกเสียงหัวเราะอย่างชอบใจจากหมู่เจ้านายที่หันมาฟังคำตอบอันแสนจะน่าอดสูเหล่านั้น
และแล้วก็ถึงเขาจนได้
“ คนไหน นายนาค นางาม ”
“ ผมครับ ” เขาตอบอ้อมแอ้ม
“ เราล่ะ ทำยังไงจึงมีลูกมากมายนัก ” หลายคนหัวเราะคิกๆ
“ โอ๊ย ! มันยากมันจนเจ้านายเอ๊ย ” เขาโพล่งออกไปเพราะเหลืออด
“ ก็มันเกี่ยวอะไรกับยากๆจนๆเล่า ” ปลัดซักด้วยน้ำเสียงแสดงความผิดหวังในคำตอบ



“ มันจน มันจน ไม่มีเงินจะไปซื้อผ้าห่ม ถึงจะเหม็นสาบเหม็นคาวทั้งปีทั้งชาติ
ก็ได้ใช้เมียนั้นแล้วต่างผ้าห่ม ลูกมันก็หลั่งไหลมา ” แทนเสียงหัวเราะ ทุกคนเงียบงันไปครู่หนึ่ง
เสียงปลัดหน้าตายคนนั้นจึงปร่าๆขึ้น
“ บ๊ะ อ้ายหมอนี่เอาเมียทำผ้าห่ม ”

ลมพัดมาอีกอู้หนึ่ง สะแบงและพะยอมทิ้งใบแก่กราวใหญ่ ประกายแดดยังเต้น
ระยิบ ลมหัวกุดยังคงพัดอื้ออึงกลางทุ่งโล่งเบื้องหน้า นาคผละจากเงาไม้สูงฝ่าเปลวแดดร้อนยามบ่ายมุ่งตรงไปหมู่บ้าน ไม่นานเขาสวนทางกับเพื่อนบ้านหมู่หนึ่ง
“ เฮ้ยทิดนาค ” เสียงนั้นทักมาแต่ไกล ไม่ทันจะตอบอีกคนหนึ่งก็ชิงเล่า
“ เอ็งโชคดีเหลือเกิน ” คำเล่าทำให้เขาใจชื้นมากขึ้น ยิ้มเล็กน้อยก่อนถาม
“ โชคยังไง โชคยังไง ” เขาถามอย่างร้อนรน
“ ก็เงินสองร้อยเอ็งได้รึเปล่าเล่า ? ”
“ ได้ซี อยู่นี่ ” เขาตบกระเป๋า
“ โชคดีเหลือเกิน โชคเอ็งดีเหลือเกินนาคเอ๋ย ถ้าเอ็งช้าไปอีกวันเดียวก็ชวดเงิน
สองร้อยบาท ”
“ ? ”


27 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านเรื่องนี้แล้ว ได้รู้วัฒนธรรมการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ได้รู้จักเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ดีมากเลยค่ะ

นางสาวเปมิกา เอื้อสุนทรพานิช ม.6/10 เลขที่ 11ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีคะอาจารย์

เรื่องเขียดขาคำ ของอาจารย์พอเข้ามาดูแล้วมีภาพด้วย ดีใหญ่เลยคะ

เพราะว่านึกภาพได้ชัดเจนยิ่งหว่าอ่านหนังสือเล่มแดงอีกอ่าคะ

ได้รู้ว่าเค้าจับเขียดกันยังไง


เครื่องที่ใช้คืออะไร

น.ส.รจนนท์ มงคล ม. 6//11 เลขที่ 19 ข.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวอีสาน รู้จักชนิดของเขียด และรู้จักเครื่องมือต่างๆ


น.ส.ศิริรัตน์ สุ่นสกุล ม. 6/12 เลขที่ 21 ข

นางสาวชนากานต์ ประสาทศิลป์ 6/8 12ข กล่าวว่า...

อ่านแล้วเข้าใจความรู้สึกของคนเป็นพ่อนะคะ ใครจะให้ไปไหนก็ไม่ไป แต่นายนาคต้องไปเพราะกลัวติดคุก เลยทำให้นายนาคไม่ได้อยู่กับลูกเลย
นางสาวชนากานต์ ประสาทศิลป์
ม.6/8 เลขที่ 12ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วเจ็บใจ ที่จำไม่ได้ เลยทำข้อสอบได้หน่อยเดียว

แต่ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีมากนะคะ

ทำให้เราได้รับรู้ถึงชีวิตของคนอีสาน

นางสาวอุษณา อ่อนจันทร์ ม.6/5 เลขที่ 23ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีค่ะ อ่านเนื้อเรื่องไปด้วยดูภาพประกอบไปด้วยทำให้เข้าใจมากขึ้นและก้อสนุกกับการอ่านด้วย ไม่น่าเบื่อให้แง่คิดดีๆหลายอย่าง ได้รู้การใช้ชีวิตของชาวอีสานอีกแบบหนึ่งในด้านที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน


นางสาวนวลผ่อง ยิ้มแย้ม เลขที่ 12ก ม.6/11

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ

ได้รู้วิถีชีวิตของชาวอิสานด้วย

มีภาพประกอบอ่านแล้วไม่เบื่อค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เหอะๆ สรุป ลูกชายเค้าตายใช่ไม่ครับ

เฮ้อ สองร้อย กะ ชีวิตลูกชาย



ภัทรพงษ์ เหนือศรี ชั้น ม6/6 เลขที่ 5ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีคับอาจารย์
เรื่องเขียดขาคำนี้ดีกว่าในหนังสืออีก
เพราะมีสีสัน และรูปให้ชวนน่าอ่าน
ได้รู้ว่าชาวอีสานวิถีชิวิตเปนไง
มีเคียดรายบ้าง และความรู้ต่างๆๆมากมาย

นาย จักรกริช กัณทวี เลขที่ 1ก. ม.6/10

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เหนื่อยแฮะคนเป็นพ่อคนเนี่ย เห้อๆ

เพราะฉะนั้นเราต้องรักพ่อให้มากๆ

นาย นครินทร์ ปานันท์ ม.6/7 เลขที่3ก.

จิรดา สงวนวงษ์ ม.6/6 เลขที่ 9 ก กล่าวว่า...

อ่านแล้วรู้สึกรักพ่อมากเลยค่ะ

เป็นเรื่องสั้นที่ดีมากๆ แถมมีภาพประกอบด้วย

ทำให้เห็นภาพชัดเจนเลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คนเป็นพ่อเค้าก็จะทำทุกอย่างด้วยความรักและความเป็นห่วงลูกๆ

ฉะนั้นเราที่เป็นลูกๆก็ควรจะตอบแทนคุณ พ่อและแม่ให้ท่านสุขใจจะได้หายเหนื่อย

นาย วรเมธ อยู่แพ ม.6/7 เลขที่3ข.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สงสารพ่อ และลูกครับ นับว่าเรื่องสั้นที่ดีมากๆ แถมมีภาพประกอบด้วย



นาย เทิดเกีนรติ สุขเกษม ม.6/4 เลขที่5ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บางคน บางครั้ง ต่างชีวิต

บางคน...อาจเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด
บางครั้ง...ผมอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาเลือก
ต่างชีวิต...ย่อมเลือกในสิ่งที่ดีต่างกัน

นายนรุตม์ ธีรดิษฐากุล เลขที่ 5ก ม.6/5

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เรื่องเขียดขาคำนี้ดีกว่าในหนังสืออีก
เพราะมีสีสัน และรูปให้ชวนน่าอ่าน
ได้รู้ว่าชาวอีสานวิถีชิวิตเปนไง

นาย อัครพล แก้ววิเชียร
ม.6/7 เลขที่ 4ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่มีสิ่งใดในโลกที่แปลความหมายของคำว่ารักที่บริสุทธิ์และแท้จริงได้

นางสาวศรัณยา มาพย์ เลขที่ 17 ก ชั้นม.6/6

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วรู้สึกว่าคำว่าพ่อนี้ยิ่งใหญ่

รู้ถึงวิถีชีวิตขอชาวอีสาน




นางสาวชุติมา บัวพัน ม.6/9 เลขที่ 14ข

นางสาวกนกวรรณ ศิริแสน ม.6/10 เลฃที่ 5 ก กล่าวว่า...

พอได้อ่านเรื่องเขียดขาดำแล้วรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานช่างน่าสงสารมากเพราะต้องอดทนต่อความแห้งแล้งและสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบด้าน อีกทั้งยังได้ซาบซึ้งกับความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อที่มีต่อลูก แต่ก็ต้องเสียความรู้สึกที่ปลัดอำเภอปฏิบัติต่อชาวนาที่ต้องนั่งรอแล้วรออีกรอจนกว่าจะทานข้าวเที่ยงเสร็จดูแล้วรู้สึกว่าช่างเป็นคนเห็นแก่ตัวเหลือเกินไม่เห็นความทุกข์ร้อนของราษฎร ดังนั้นนายนาค นางาม จึงน่าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิตที่เห็นชีวิตของลูกสำคัญกว่าค่าของเงิน200บาท
นางสาวกนกวรรณ ศิริแสน ม.6/10 เลฃที่ 5 ก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นเรื่องที่สนุกดีค่ะ ได้รู้ถึงความรู้สึกของคนเป็นพ่อ เวลาเห็นลูกเจ็บ อยากรู้ตอนสุดท้ายลูกตายหรือเปล่า

น.ส.ปรัชญา จันทร์ผ่อง ม.6/8 เลขที่ 14ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สนุกดี ลุ้นตลอดเวลา ได้เห็นถึงความลำบากของชาวนาและสงสารคนเป็นพ่อมากๆ

น.ส.พลอยกมล พานิชย์พันธุ์ ม.6/8 เลขที่ 17ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้รู้ถึงวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนา ได้รู้จักศัพท์ใหม่ๆแปลกเยอะขึ้น

นายพีรพัฒน์ วีระพงษ์ ม.6/8 เลขที่ 7ก

นายนฤบดี ลาภมี ม.6/3 เลขที่ 3 ก กล่าวว่า...

เป็นบทความที่สะท้อนการใช้ชีวิต ของลูกนา ชาวอีสาน และแนวคิดของพวกเขาในการดำรงชีวิต ในฐานะราษฎร และยังชี้ให้เห็นถึง ความรักอันยิ่งใหญ่ ของพ่อที่มีต่อลูก ,ความเห็นแก่ตัวของข้าราชการ,และค่าของเงินมีอิทธิพลต่อสังคม(ชาวอีสาน)ของพวกเขามาก...T^T อ่านแล้วสะเทือนใจครับ

นายนฤบดี ลาภมี ม.6/3 เลขที่ 3 ก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สุดยอดจริงๆไม่ไปหาหมอ
แต่ใช้ความเชื่อโบราณ
แถมยังได้เงินอีก

ไม่น่าเชื่อว่าจะใช้เมียแทนผ้าห่ม 555+

น.ส.ณัชญากาญจน์ พานิชพิบูลย์ ม.6/6เลขที่ 19ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นการแสดงถึงวิถีชีวิตของคนอีสานในอีกแง่มุมหนึ่งและความรักของพ่อรวมทั้งค่าของเงิน ณ สมัยนั้น
น.ส.ชิติภรณ์ ศรีขจร ม.6/3 เลขที่ 10ข

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ความรักของพ่อ ยิ่งใหญ่ที่สุด
….. สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในปัจจุบัน ว่าตัดสินคนด้วยเงินทอง
ไม่ว่าจะเป็นชาวนา หรือ ข้าราชการ ก็ มีเกียรติเท่ากัน ถ้าไทยไม่มีชาวนา เราคงไม่มีข้าวกิน

*ขอขอบคุณชาวนาไทย T^T


น.ส.พลอยไพลิน บัวรักษ์ 18ก 6/3

คนผ่านทาง กล่าวว่า...

เรื่องนี้ ไม่ได้มีประโยชน์แค่ ให้ได้รู้จักเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ นะ น่าน้อยใจแทนคนแต่ง เข้ามาอ่านแล้วได้ไปแค่นั้น กรุณาอ่านให้คุ้มค่า...

ครูภาษาไทยในอนาคต กล่าวว่า...

อยากจะถามความคิดเห็นของอาจารย์ว่า ทำไมผู้แต้งจึงตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า เขียดขาคำ คะ